คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3639/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอของโจทก์ที่ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางปรากฏจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขแดงที่ 2221/2552 ท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวว่า โจทก์เคยมีคำขอให้ริบรถของกลางดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางมาแล้ว ถ้าโจทก์ไม่เห็นด้วยก็ชอบที่จะอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เมื่อคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2221/2552 เดิมเป็นคู่ความรายเดียวกัน ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องเป็นวิธีพิจารณาความเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีเท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอให้ริบของกลางในคดีก่อนและคดีนี้เป็นการอ้างเหตุเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีก่อน จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นเรื่องของกลางแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ร้องขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีนี้อีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยและพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ของกลางมาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 66, 76, 76/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 26 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง, 76 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี และปรับ 550,000 บาท ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 8 เดือน และปรับ 550,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลางและคืนให้แก่เจ้าของ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า จ่าสิบตำรวจสมเกียรติได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า จะมีผู้มาส่งมอบยาเสพติดให้โทษที่บริเวณสามแยกบ้านน้ำตก ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส ร้อยตำรวจโทกุลนริศร์ จ่าสิบตำรวจสมเกียรติกับพวกจึงเดินทางไปดักซุ่มที่บริเวณดังกล่าว ต่อมาจำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยมีนางสาวนูรีย๊ะ พี่สาวจำเลยนั่งซ้อนท้ายและเด็ก 2 คน ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยนั่งมาด้วย เมื่อมาถึงจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจดักซุ่ม เจ้าพนักงานตำรวจจึงเรียกให้หยุดรถและขอตรวจค้นที่ใต้เบาะนั่งของรถจักรยานยนต์ พบถุงพลาสติกสีฟ้า 2 ถุง บรรจุเมทแอมเฟตามีนรวม 373 เม็ด และกัญชา 1 แท่ง ห่อด้วยกระดาษฟอยล์จึงยึดยาเสพติดให้โทษและรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ส่วนนางสาวนูรีย๊ะให้การรับสารภาพ ชั้นพิจารณานางสาวนูรีย๊ะให้การรับสารภาพ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยและพิพากษาลงโทษนางสาวนูรีย๊ะตามฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยร่วมกับนางสาวนูรีย๊ะกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ประการแรก ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า ก่อนเกิดเหตุ แหล่งข่าวที่แจ้งแก่จ่าสิบตำรวจสมเกียรติได้ระบุชื่อจำเลยว่าเป็นคนร้ายที่จะไปส่งมอบยาเสพติดให้โทษ ประการที่สอง โจทก์นำสืบได้เพียงว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่ซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษของกลาง โดยมิได้นำสืบให้ได้แน่ชัดในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นเจ้าของหรือครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลางก่อนเกิดเหตุ หรือนำสืบให้ได้แน่ชัดต่อมาว่าจำเลยรู้เห็นการซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษของกลางตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุและประการที่สามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่ซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษของกลางและจำเลยเป็นน้องสาวของนางสาวนูรีย๊ะซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น ก็ยังไม่อาจบ่งชี้ได้แน่ชัดว่า จำเลยรู้เห็นการซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษและมีเจตนาร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดของนางสาวนูรีย๊ะ ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นที่จะบ่งชี้ได้เช่นนั้น กลับปรากฏพฤติการณ์ในขณะเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้หยุดรถและขอตรวจค้นว่า จำเลยยอมหยุดรถจักรยานยนต์โดยดีและพฤติการณ์ในขณะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมว่า จำเลยและนางสาวนูรีย๊ะให้การปฏิเสธในทันทีว่าจำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดกับนางสาวนูรีย๊ะ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม 2 ปากเบิกความสอดคล้องต้องกันและยึดยาเสพติดให้โทษของกลางได้ที่ใต้เบาะนั่งของรถจักรยานยนต์ของกลางในขณะที่จำเลยขับ ตามพฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดกับนางสาวนูรีย๊ะนั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อ้างเพียงน่าเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิด มิได้ถึงขนาดแน่ใจว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยต่อไป
อนึ่ง สำหรับคำขอของโจทก์ที่ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ปรากฏจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขแดงที่ 2221/2552 ท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวว่า โจทก์เคยมีคำขอให้ริบของกลางและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางมาแล้ว ถ้าโจทก์ไม่เห็นด้วยก็ชอบที่จะอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เมื่อคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2221/2552 เดิมเป็นคู่ความรายเดียวกัน ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องเป็นวิธีพิจารณาความเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีเท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอให้ริบของกลางในคดีก่อนและคดีนี้เป็นการอ้างเหตุเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีก่อน จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นเรื่องของกลางแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ร้องขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีนี้อีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยและพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ของกลางมานั้นจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษากลับให้ยกฟ้องและยกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

Share