คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15710/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีประการแรกว่า วัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์ เพียงแต่วัด ช. จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของแทน กับประการที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกแสดงเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังไม่ปฏิบัติตาม เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิต้องตามหลักเกณฑ์ในการนำคดีเข้าสู่ศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากวัด ช. ผู้เป็นเจ้าของ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกเพราะถูกข่มขู่และถูกกลฉ้อฉล ประเด็นข้อพิพาทมิใช่มีเพียงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่เท่านั้น เพราะหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยบันทึกว่ามีผลตามกฎหมายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เพราะการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ รัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 33 (2) ประกอบมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วด่วนพิพากษายกฟ้องนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ เพราะยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับบันทึกอันมีผลเกี่ยวกับเนื้อหาคดีที่ศาลต้องพิพากษาอีก ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจหยิบยกวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของวัด ช.ตามเดิมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยส่วนนี้ชอบแล้ว
แม้จะรับฟังตามบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของวัด ช. แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าวัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนี้ การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนโดยตรงให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนใส่ชื่อวัด ช. เป็นเจ้าของตามความเป็นจริงก่อน และจะหยิบยกอายุความได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 มากล่าวอ้างมิได้ เพราะมีบัญญัติห้ามไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 วรรคท้าย แต่ศาลจะพิพากษาในคดีนี้มิได้เพราะเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันระหว่างวัด ช. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องติดต่อกับวัด ช. ต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกยินยอมที่จะไปโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกผลในที่ดินพิพาทด้วย กับถือว่าเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ผลผลิตยางพาราในที่ดินพิพาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ทะเบียนเล่ม 4 หน้า 57 สารบบเล่ม 4 หน้า 282 หมู่ที่ 4 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองจัดการให้ผู้อยู่ในที่ดินออกไปจากที่ดินและไม่ให้จำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกามีคำสั่งเรียกนางสาวสมพร ผู้จัดการมรดกเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า เดิมที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ทะเบียนเล่ม 4 หน้า 57 สารบบเล่ม 4 หน้า 282 หมู่ที่ 4 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เนื้อที่ 81 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้ มีเจ้าของรวม 3 คน คือ นางงั้น นายยู่อี และนางสาวงวดอิ้ม ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2506 ต่อมาเจ้าของรวมทั้งสามยกที่ดินพิพาทให้แก่วัดไชยมังคลาราม รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์ประเทศไทย แต่ขณะนั้นพระครูวิเทศธรรมนาถเจ้าอาวาสชราภาพ จึงให้จดทะเบียนนิติกรรมใส่ชื่อพระมหาสุทัศน์ สุรปัญโญ พระลูกวัดไว้แทน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2522 ตามสารบัญจดทะเบียน น.ส. 3 (ใบต่อ) ด้านหลัง ครั้นวันที่ 15 เมษายน 2531 พระมหาสุทัศน์มรณภาพ วัดไชยมังคลาราม โดยพระครูวิเทศธรรมนาถ ยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดเบตงซึ่งที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอำนาจ ขอให้มีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของพระมหาสุทัศน์ โดยแสดงเหตุผลว่าที่ดินพิพาทเป็นของวัด และวัดประสงค์จะนำที่ดินพิพาทไปหาดอกผลเพื่อสร้างพระพุทธรูปที่วัดโจทก์ ศาลจังหวัดเบตงไต่สวนและมีคำสั่งตั้งวัดไชยมังคลารามเป็นผู้จัดการมรดกของพระมหาสุทัศน์ ตามสำเนาคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ 41/2532 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2532 โดยก่อนหน้านั้นพระครูวิเทศธรรมนาถได้ประชุมคณะสงฆ์และกรรมการวัดเพื่อจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีมติ “ให้เอาที่ดินแปลงนี้ตั้งเป็นมูลนิธิชื่อว่า มูลนิธิ “พระวิเทศธรรมนาถ” (แดง ธมมปาโล)… ยกผลประโยชน์ให้วัดนางเหล้า หมู่ที่ 3 ตำบลชุมพล อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา และให้วัดนางเหล้าใช้ดอกผลของมูลนิธิไปตามหลักการ ดังนี้…” ตามบันทึกการประชุมลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2532 ครั้นวันที่ 28 กรกฎาคม 2543 วัดไชยมังคลาราม โดยพระครูวิเทศธรรมนาถ ในฐานะผู้จัดการมรดกของพระมหาสุทัศน์ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระบุเป็นนิติกรรมซื้อขายแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาขายที่ดินและสารบัญจดทะเบียน แผ่นที่ 2 และที่ 3 และในที่สุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบมาแต่ต้นว่า วัดไชยมังคลารามมีเจตนาที่จะยกที่ดินพิพาทให้แก่วัดโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงเจตนาจะดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้แก่วัดโจทก์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 4 แต่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามบันทึกดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีในประการแรกว่า วัดไชยมังคลารามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์ เพียงแต่ในเบื้องต้นวัดไชยมังคลารามจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของแทน กับประการที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึก แสดงเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกนั้น อันเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิ ต้องตามหลักเกณฑ์ในการนำคดีเข้าสู่ศาลตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 บัญญัติไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากวัดไชยมังคลารามผู้เป็นเจ้าของ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึก เพราะถูกข่มขู่และถูกกลฉ้อฉล ก็จะเห็นได้ว่า ประเด็นข้อพิพาทมิใช่มีเพียงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่เท่านั้น เพราะแม้หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ก็ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัย ว่ามีผลตามกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องปฏิบัติตามการแสดงเจตนาที่ปรากฏในบันทึกหรือไม่ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เพราะการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ รัฐจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 33 (2) ประกอบมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วด่วนพิพากษายกฟ้องเสียทีเดียวนั้น หาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ เพราะยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับบันทึก อันมีผลเกี่ยวกับเนื้อหาคดีที่ศาลจะต้องพิพากษาอยู่อีก ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นแต่เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของวัดไชยมังคลารามตามเดิมหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามที่ได้แสดงเจตนาในบันทึก เห็นว่า มีผู้เข้าร่วมในการเจรจาหลายคนทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ กระทำกันโดยเปิดเผย ไม่ปรากฏลักษณะการข่มขู่หรือหลอกลวง พยานบุคคลซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เช่น นายทิพย์ นางศิริปภัสสรา กรรมการวัด และนายนอบ เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ โดยเฉพาะนายทิพย์ซึ่งเป็นผู้เขียนบันทึก สำหรับการแสดงเจตนาคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ของจำเลยที่ 1 ระบุชัดว่า เป็นเพราะพระครูสังฆรักษ์อิทธิกรและจำเลยที่ 1 เกี่ยงกันไม่ยอมเป็นผู้เขียน จนในที่สุดก็ตกลงกันให้นายทิพย์เป็นผู้เขียน นายทิพย์เป็นญาติกับจำเลยที่ 1 ขณะนายทิพย์เขียนบันทึก จำเลยที่ 2 จึงมิได้เข้ามาร่วมการเจรจา แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มาถึงและรับทราบข้อตกลง จำเลยที่ 2 ก็ได้เขียนข้อความด้วยตนเองแสดงเจตนาดำเนินการตามที่บันทึกไว้แล้วคือจะคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ลงในบันทึกฉบับเดียวกัน สำหรับพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นกรรมการวัดโจทก์ อีกทั้งมีศักดิ์เป็นหลานของพระครูวิเทศธรรมนาถ ส่วนจำเลยที่ 2 ก่อนทำบันทึก ก็รับราชการครูสอนหนังสือที่โรงเรียนวัดนางหล้า ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ปรากฏจึงไร้เหตุผลที่จะให้รับฟังตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อความตามบันทึก เป็นการกระทำโดยสมัครใจและผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแทนวัดไชยมังคลารามเท่านั้น การทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทและการจดทะเบียนสิทธินิติกรรม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2543 เป็นนิติกรรมอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม แม้จะรับฟังได้ตามบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องมีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของวัดไชยมังคลารามแต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า วัดไชยมังคลารามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนี้ การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนโดยตรงให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการพ้นวิสัยเพราะไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนใส่ชื่อวัดไชยมังคลารามเป็นเจ้าของตามความเป็นจริงก่อน และจะหยิบยกอายุความได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 มากล่าวอ้างมิได้ เพราะมีบัญญัติห้ามไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 วรรคท้าย แต่ศาลจะพิพากษาในคดีนี้มิได้เพราะเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ชอบที่จะต้องไปว่ากล่าวกันระหว่างวัดไชยมังคลารามกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องติดต่อเจรจากับวัดไชยมังคลารามต่อไป ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share