คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292/2558

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ แต่โจทก์คงมีแต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมิใช่ผู้ชำนาญกฎหมายประเทศอังกฤษมาเบิกความประกอบพยานเอกสาร ซึ่งในบทบัญญัติกฎหมายประเทศอังกฤษดังกล่าว ห้ามการหย่าก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันทำการสมรส เมื่อโจทก์นำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ จำเลยไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษมีเงื่อนไขการหย่าและคดีนี้ยังไม่พ้นระยะเวลาการหย่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้โต้แย้งความมีอยู่จริงของกฎหมายที่โจทก์นำสืบดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประเทศอังกฤษหรือไม่ ข้อเท็จจริงก็ย่อมรับฟังได้ว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่าขาดกันได้ ซึ่งต้องตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แล้ว ทำให้ศาลไทยมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปได้ว่า เหตุหย่าที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องนั้น เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่
การทิ้งร้าง หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเจตนาจะไม่ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป จึงได้ทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง หาใช่เป็นการทิ้งร้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควร ข้อเท็จจริงการทิ้งร้างตามคำเบิกความของ พ. ล้วนเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น ไม่มีส่วนที่ พ. รู้เห็นด้วยตนเอง การที่โจทก์พาจำเลยไปอยู่กินด้วยกันที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และโจทก์ไม่ยินยอมเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกขัดแย้งกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยก่อนสมรสซึ่งโจทก์ขอจำเลยแต่งงานโดยโจทก์จำเลยตกลงใช้ชีวิตบั้นปลายที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น การที่จำเลยเดินทางกลับมาประเทศไทย จึงไม่ถือเป็นการทิ้งร้างโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอ้างการทิ้งร้างเป็นเหตุหย่าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราษฎร์บูรณะ บัญชีเลขที่ 745-9-20013-9 และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักสาทร บัญชีเลขที่ 047-2-22217-3 คืนแก่โจทก์ ให้แบ่งสินสมรสโดยขายทอดตลาดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 136410 เลขที่ดิน 170 ตำบลบางไผ่ อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมบ้านเลขที่ 7/40 หมู่ที่ 1 แขวงบางไผ่ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยรับเงินครึ่งหนึ่งตามยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ วันที่ศาลมีคำพิพากษาในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) สาขาสำนักราษฎร์บูรณะ บัญชีเลขที่ 745-9-20013-9 และบัญชีเงินฝากธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักสาทร บัญชีเลขที่ 047-2-22217-3 ให้จำเลยนำแหวนเพชรรูปหัวใจขนาด 1.36 กะรัต จำนวน 1 วง ราคา 167,785.20 บาท และต่างหูเพชรขนาด 1.08 กะรัต จำนวน 1 คู่ ราคา 24,830.52 บาท ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง มิฉะนั้นให้โจทก์ยึดหรืออายัดทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสินสมรสอื่นตามมูลค่าของแหวนเพชรและต่างหูเพชรดังกล่าวครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการดำเนินคดีในอัตราร้อยละ 1 ของทุนทรัพย์ตามฟ้อง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และหากพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่หรือช่วยเหลือตนเองได้ และขอให้แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราษฎร์บูรณะ บัญชีเลขที่ 745-9-20013-9 และบัญชีเงินฝากธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักสาธร บัญชีเลขที่ 047-2-22217-3 ให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 348,208.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้แบ่งสินสมรสคือ บ้านพร้อมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 136410 เลขที่ดิน 170 ตำบลบางไผ่ อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และเงินฝากในบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราษฎร์บูรณะ บัญชีเลขที่ 745-9-20013-9 และเงินฝากในบัญชีธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักสาทรบัญชีเลขที่ 047-2-22217-3 ให้โจทก์จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งบ้านพร้อมที่ดินข้างต้นไม่อาจกระทำได้หรือจะทำให้ทรัพย์สินนั้นเสียหายมาก ให้ขายโดยประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยก่อน หากตกลงกันไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ให้จำเลยส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราษฎร์บูรณะ บัญชีเลขที่ 745-9-20013-9 และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักสาทร บัญชีเลขที่ 047-2-22217-3 คืนแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท และกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้ 10,000 บาท คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มก่อนอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งให้รับผู้มอบฉันทะทนายจำเลยทราบคำสั่งศาลฎีกาและอนุญาตให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลภายใน 15 วัน และเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 1 กันยายน 2558 เมื่อถึงกำหนดนัดปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องและไม่ได้ชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องตามคำสั่งของศาลฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต จึงเป็นกรณีที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น จึงถือว่าจำเลยทิ้งฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับประเด็นบ้านและที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 ประกอบมาตรา 246 และ 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ และให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนประเด็นที่จำเลยทิ้งฎีกาออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์มีสัญชาติอังกฤษ มีถิ่นที่อยู่ถาวรในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย โจทก์และครอบครัวมีธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการบริโภค โจทก์เคยมีภริยาแต่เลิกกันแล้ว เมื่อประมาณปี 2540 โจทก์เดินทางเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และรู้จักจำเลยซึ่งทำงานเป็นพนักงานต้อนรับที่โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพมหานคร วันที่ 19 พฤษภาคม 2540 โจทก์โอนเงิน 1,028,713.90 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อนำไปชำระค่ามัดจำซื้อบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 136410 แขวงบางไผ่ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร วันที่ 8 กรกฎาคม 2540 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน ณ สำนักทะเบียนสมรส ศาลาว่าการเมืองฮ่องกง วันที่ 21 ตุลาคม 2540 โจทก์โอนเงิน 5,632,000 บาท เข้าบัญชีมารดาจำเลยเพื่อนำไปชำระบ้านและที่ดินดังกล่าว หลังจากนั้นโจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านหลังดังกล่าวนี้ โดยไม่มีบุตรด้วยกัน วันที่ 8 เมษายน 2541 โจทก์จำเลยมาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายไทย ณ สำนักงานทะเบียนเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร วันที่ 5 พฤศจิกายน2541 โจทก์ประสบอุบัติเหตุลื่นหกล้ม ต้องพักรักษาตัวประมาณ 3 ปี ในวันที่ 12 กันยายน 2550 โจทก์จำเลยเดินทางกลับไปที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง วันที่ 24 ธันวาคม 2550 จำเลยเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยก็ไม่เดินทางไปมาหาสู่กันอีกเลย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่เห็นสมควรนำมาวินิจฉัยเสียก่อนมีว่า โจทก์มีเหตุฟ้องขอหย่าจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า การทิ้งร้าง หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเจตนาจะไม่ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป จึงได้ทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง หาใช่เป็นการทิ้งร้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควร คดีนี้ โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่า จำเลยมีเจตนาทิ้งร้างโจทก์โดยไม่ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยโจทก์ไม่ได้มาเบิกความเป็นพยาน แต่มีนายพิสุทธิ์ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และทำหน้าที่เป็นทนายความแก่โจทก์ด้วย มาเบิกความเป็นพยานยืนยันการทิ้งร้างตามฟ้อง โดยไม่มีข้อเท็จจริงว่านายพิสุทธิ์มีความเกี่ยวข้องกับโจทก์นอกเหนือการปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความซึ่งมีหน้าที่ต้องรักษาผลประโยชน์แห่งคดีของโจทก์ ข้อเท็จจริงการทิ้งร้างตามคำเบิกความของนายพิสุทธิ์ดังกล่าว จึงล้วนเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น ไม่มีส่วนที่นายพิสุทธิ์รู้เห็นด้วยตนเอง ดังนั้น ที่อ้างว่าจำเลยมีเจตนาทิ้งร้างโจทก์โดยไม่มีสาเหตุประการอื่น ย่อมไม่น่าเชื่อถือ ส่วนจำเลยเป็นผู้ที่รู้เห็นข้อเท็จจริงที่เกิดโดยตรง ทั้งมีพยานหลักฐานเป็นจดหมาย ซึ่งพยานเอกสารดังกล่าวทำขึ้นในขณะที่ยังมิได้มีเหตุฟ้องร้อง เชื่อว่าเป็นเอกสารที่ทำขึ้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง มาสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ความว่า การที่โจทก์พาจำเลยไปอยู่กินด้วยกันที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และโจทก์ไม่ยินยอมเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกนั้น ขัดแย้งกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยก่อนสมรสตามคำเบิกความของนายพิสุทธิ์และนายวิโนดหรือวิดเตอร์ ซึ่งเป็นพี่ชายโจทก์ว่า โจทก์ขอจำเลยแต่งงาน โดยโจทก์จำเลยตกลงใช้ชีวิตบั้นปลายที่กรุงเทพมหานคร จะเกษียณอายุเมื่ออายุไม่มาก และนำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยมีจำเลยเป็นผู้ดูแล แต่ได้ความว่า หลังจากโจทก์เดินทางกลับไปที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงแล้ว โจทก์ไม่ได้แสดงเจตนาที่จะกลับมาอยู่ประเทศไทยอีก ดังนั้น การที่จำเลยเดินทางกลับมาประเทศไทย จึงไม่ถือเป็นการทิ้งร้างโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอ้างการทิ้งร้างเป็นเหตุหย่าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ฎีกาของจำเลยข้ออื่นก็ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share