แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.อ. ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุมิได้บัญญัติบทนิยามของ “เจ้าพนักงาน” ไว้ เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐมิได้มีแต่ส่วนราชการ แต่ประกอบไปด้วย รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระ สำหรับองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายเป็นองค์การของรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งทั้ง พ.ร.บ. และ พ.ร.ฎ. ล้วนระบุว่าการจัดตั้งใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินและทุนประเดิมจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติจัดให้มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และมอบหมายให้ผู้เสียหายเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการดังกล่าว ดังนั้น ว. หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกนอกจากจะมีฐานะเป็นพนักงานองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายแล้ว ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตามที่ผู้เสียหายได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยมีหน้าที่ออกใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำสัญญาจำนำและรับเงินจากธนาคาร พ. เมื่อธนาคารดังกล่าวจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรแล้วก็จะนำเอกสารที่เกษตรกรมอบให้ไปเบิกเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลซึ่งบางส่วนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน การกระทำของ ว. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของรัฐในโครงการดังกล่าว แม้ ว. ไม่ใช่เป็นข้าราชการที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นพนักงานที่รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากผู้เสียหายที่เป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการงานของรัฐบาลโดยแท้ อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ย่อมถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ว. ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ และเรียกจำเลยอีกหกสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 267, 268, 341 ให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 76,893 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 302, 917.95 บาท 157,360.85 บาท 67,854.70 บาท 69,338.60 บาท 75,276.35 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษของจำเลยที่ 1 ทั้งเจ็ดสำนวนติดต่อกันและต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2124/2556 หมายเลขดำที่ 2125/2556 และหมายเลขดำที่ 2127/2556 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างสืบพยานโจทก์ ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ศาลชั้นต้นอนุญาต สิทธินำคดีอาญาในข้อหานี้มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 10 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี และปรับ 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้ชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า ระหว่างปี 2555 ถึง 2556 รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติจัดให้มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเริ่มเดือนตุลาคม 2555 สิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ครั้งที่สองเริ่มเดือนมีนาคม 2556 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2556 คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติมอบหมายให้องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ผู้เสียหายเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ มีหน้าที่ดำเนินโครงการตั้งแต่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวและประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ รับโรงสีข้าวที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นจุดรับจำนำข้าวเปลือกและเป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร รวมทั้งออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาจำนำ เพื่อให้เกษตรกรนำใบประทวนสินค้าไปทำสัญญาจำนำต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับพื้นที่อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ มีโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง ได้แก่ โรงสีข้าวโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจซึ่งใช้ท่าข้าวบุญมาครองเป็นจุดรับจำนำข้าวเปลือกและโรงสีข้าวนพภรที่มีจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการ นางสาวสุดารินทร์และนางสาววริญญา เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายให้เป็นหัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกประจำโรงสีข้าวนพภรและจุดรับจำนำข้าวเปลือกบุญมาครองตามลำดับ มีหน้าที่ตรวจสอบว่าเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาจำนำเป็นเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวเองในฤดูการผลิตและขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการไว้จริงหรือไม่ และรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร รวมทั้งออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำสัญญาจำนำ นางดอกไม้ นางประจักร์ นางมาศรี นางสายทองและนางจิม ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิตและนำข้าวเปลือกไปจำนำที่จุดรับจำนำข้าวเปลือกบุญมาครอง โดยแจ้งต่อนางสาววริญญา หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกบุญมาครองว่าเป็นข้าวเปลือกที่ตนเพาะปลูก นางสาววริญญาจึงได้ออกใบประทวนสินค้า จำนวน 9 ใบ ให้แก่นายสำรอง 2 ฉบับ ให้แก่นายมุด นางคำพอย นางดอกไม้ นางประจักร์ นางมาศรี นางสายทองและนางจิม คนละ 1 ฉบับ และให้แก่จำเลยที่ 2 อีก 1 ฉบับ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกเสียก่อนว่า นางสาววริญญา หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกบุญมาครองเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุมิได้บัญญัติบทนิยามของ “เจ้าพนักงาน” ไว้ เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐมิได้มีแต่เพียงส่วนราชการ แต่ประกอบไปด้วย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระและรัฐบาลมีนโยบายต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม แต่การดำเนินการตามนโยบายนั้น เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน จึงจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะบูรณาการ โดยรัฐบาลอาจมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนได้ สำหรับองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายเป็นองค์การของรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งทั้งพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาล้วนระบุว่า การจัดตั้งใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินและทุนประเดิมจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติจัดให้มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 จำนวน 2 ครั้ง และมอบหมายให้ผู้เสียหายเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการดังกล่าว โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการเร่งด่วนและต้องมีพนักงานของผู้เสียหายไปประจำจุดรับจำนำข้าวเปลือกมากมายหลายพื้นที่ ผู้เสียหายจึงมีความจำเป็นต้องรับสมัครบุคคลเข้าทำงานในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลเพื่อไปประจำตามจุดรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งรวมทั้งนางสาววริญญา หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกบุญมาครอง ดังนั้นนางสาววริญญานอกจากจะมีฐานะเป็นพนักงานของผู้เสียหายแล้วยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามที่ผู้เสียหายได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและนางสาววริญญาเป็นผู้กระทำแทนผู้เสียหายในกิจการงานของรัฐบาล ซึ่งมีความรับผิดชอบนับตั้งแต่ตรวจสอบว่าเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาจำนำเป็นเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวเองในฤดูการผลิตและขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการไว้จริงหรือไม่ และรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร โดยมีหน้าที่ออกใบรับของคลังสินค้าซึ่งเป็นเอกสารราชการของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ที่ใช้เป็นหลักฐานว่าข้าวเปลือกที่จำนำเป็นของเกษตรกรแต่ละคนที่เพาะปลูกเอง รวมทั้งออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำสัญญาจำนำและรับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อธนาคารจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรแล้วก็จะนำเอกสารที่เกษตรกรมอบให้ไปเบิกเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลซึ่งบางส่วนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน การกระทำของนางสาววริญญาจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของรัฐในโครงการดังกล่าว แม้นางสาววริญญาไม่ใช่เป็นข้าราชการที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นพนักงานที่รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากผู้เสียหายที่เป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน ในกิจการงานของรัฐบาลโดยแท้อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ย่อมถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาววริญญาในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ของรัฐบาลเป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงาน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า นางสาววริญญาไม่เป็นเจ้าพนักงานนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จและใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267, 83 เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง สำหรับสำนวนแรกและสำนวนที่สามถึงสำนวนที่หก ให้จำคุกสำนวนละ 1 ปี ส่วนสำนวนที่สองและสำนวนที่เจ็ดเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี สำหรับสำนวนที่สองรวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี และสำนวนที่เจ็ด รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี โดยให้นับโทษทั้งเจ็ดสำนวนติดต่อกันไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก