คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13584/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรสำหรับสินค้าที่จำพวกที่ 9 รายการสินค้า ตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) มาใช้โดยทำให้ปรากฏที่ซองถุงลมกันกระแทกสำหรับบรรจุตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรของผู้เสียหายกับสินค้าตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ของจำเลยทั้งสอง โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในซองถุงลมกันกระแทกดังกล่าวเป็นสินค้าของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรตามที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว ดังนี้ การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้นต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น เพราะหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าดังที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ได้บัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะอยู่แล้ว บทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 272 (1) จึงมีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความที่เป็นเครื่องหมายการค้าเฉพาะที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้เสียหายมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหายจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้อีก แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ไม่ใช่เรื่องการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหานี้แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้
ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ…” คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่พิพากษาว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 30 โดยไม่ได้ระบุให้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 29 และ 30 เป็นการบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับโดยไม่ได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มาชดใช้ค่าปรับก่อนแล้วให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับทันที ซึ่งเป็นการพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับที่ไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 29

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 113, 114, 115, 117 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 272 (1) ริบของกลางทั้งหมด และวางโทษทวีคูณ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้วางโทษทวีคูณ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1), มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษทวีคูณจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 113 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 40,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน15,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 20,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่าฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของผู้เสียหายมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ หรือวัตถุที่ใช้หุ้มห่อ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือรูป รอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) เป็นฟ้องที่ชอบที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรสำหรับสินค้าจำพวกที่ 9 รายการสินค้าตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ตลับคาร์ทริดจ์โทนสี (บรรจุหมึกพิมพ์อิงค์เจ็ท) มาใช้โดยทำให้ปรากฏที่ซองถุงลมกันกระแทกสำหรับบรรจุตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรของผู้เสียหายดังกล่าวกับสินค้าตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ของจำเลยทั้งสอง โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในซองถุงลมกันกระแทกดังกล่าวเป็นสินค้าของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรตามที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว ดังนี้ การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) นั้น ต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น เพราะหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรดังที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ได้บัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะอยู่แล้ว บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความที่เป็นเครื่องหมายการค้าเฉพาะที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไมได้จดทะเบียน เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้เสียหายมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหายจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ได้อีก แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ไม่ใช่เรื่องการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหานี้แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ได้ นอกจากนี้ โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอในฟ้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) เป็นความผิดสองกรรมอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 โดยไม่ได้ระบุให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ…” คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางส่วนนี้เป็นการบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับโดยไม่ได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มาชดใช้ค่าปรับก่อนแล้วให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับทันที ซึ่งเป็นการพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share