คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9108/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนสินค้าเองบางส่วนที่เหลือให้โจทก์และบริษัทอื่นรับจ้างขนสินค้าคิดค่าจ้างเป็นรายเที่ยว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์มีสัญญาต่อกันในการรับจ้างขนสินค้าบางส่วนดังกล่าว ครั้นต่อมาโจทก์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนด้านการจัดส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่ง ธ. กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ยอมรับว่ายังไม่มีการทำสัญญาเนื่องจากสัญญาจะทำขึ้นในภายหลัง แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาว่าสัญญาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง สัญญาว่าจ้างรถห้องเย็นขนส่งสินค้าที่ว่าจ้างโจทก์แต่ผู้เดียวตามฟ้องจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงจะฟ้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันปฏิบัติตามสัญญาโดยให้โจทก์เป็นผู้ส่งสินค้าพรานทะเลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจำเลยทั้งแปดจะต้องจัดให้มีการขนส่งสินค้าไม่น้อยกว่า 260 เที่ยวต่อสัปดาห์ หากจำเลยทั้งแปดไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 79,104,782.17 บาท ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 79,104,782.17 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งแปด โดยกำหนดค่าทนายความให้แก่จำเลยคนละ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายธนรัชต์ และนางนิภา เป็นกรรมการ โดยกรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งให้เช่ารถห้องเย็นเพื่อการขนส่ง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โดยกรรมการคนหนึ่งคนใดลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โดยกรรมการสองในสี่คนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อประมาณ พ.ศ.2548 โจทก์เริ่มนำรถยนต์ของโจทก์มารับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 ประมาณ 5 คัน เฉลี่ยค่าขนส่งเป็นรายเที่ยวละประมาณ 1,800 บาท โดยเบิกเงินทุกสัปดาห์ ขณะนั้นมีรถยนต์ของบริษัทอื่นมารับจ้างขนสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 อยู่ก่อนแล้วประมาณ 2 ถึง 3 คัน และมีรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าเองประมาณ 13 ถึง 14 คัน ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 นายประสิทธิ์ ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรการและสิ่งแวดล้อมของจำเลยที่ 1 ได้มีประกาศเรื่องบริษัทที่เข้ามาเป็นคู่ค้ากับพรานทะเลตามและตามประกาศ ระบุว่า คัดเลือกโจทก์เป็นตัวแทนด้านการจัดส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้จัดส่งแบบร่างสัญญา มาให้โจทก์และมีการประชุมร่วมกันแต่ตกลงรายละเอียดในสัญญาไม่ได้ ครั้นวันที่ 22 ตุลาคม 2550 โจทก์ได้ทำหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอหยุดขนส่งสินค้า โจทก์ได้รับค่าขนส่งสินค้าครบถ้วนแล้วตามรายการขนส่ง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาว่าจ้างรถห้องเย็นขนส่งสินค้าที่ว่าจ้างโจทก์แต่ผู้เดียวโดยกำหนดระยะเวลา 3 ปี และให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เที่ยวละ 1,900 บาท ตามฟ้องเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนสินค้าเองบางส่วนที่เหลือให้โจทก์และบริษัทอื่นรับจ้างขนสินค้าคิดค่าจ้างเป็นรายเที่ยว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์มีสัญญาต่อกันในการรับจ้างขนสินค้าบางส่วนดังกล่าว ครั้นต่อมาโจทก์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนด้านการจัดส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก่จำเลยที่ 1 ในข้อนี้นายธนรัชต์กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ยอมรับว่า ตามประกาศดังกล่าว ยังไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเนื่องจากสัญญาจะทำขึ้นในภายหลัง แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาว่าสัญญาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า มีการร่างสัญญากันหลายครั้งแต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง สัญญาว่าจ้างรถห้องเย็นขนส่งสินค้าที่ว่าจ้างโจทก์แต่ผู้เดียวโดยกำหนดระยะเวลา 3 ปี และให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เที่ยวละ 1,900 บาท ตามฟ้อง จึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงจะฟ้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share