แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์นำสืบเพียงว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ลานจอดรถชั้นเกิดเหตุโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ปล่อยปละละเลยมิได้ดูแลรักษาความปลอดภัยตามหน้าที่ของตนแก่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเป็นเหตุให้มีคนเข้ามาลักรถยนต์คันดังกล่าว หรือมีหน้าที่รับบัตรจอดรถคืนในขณะเกิดเหตุตามฟ้องโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยหายไป จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในอาคาร จำเลยร่วมย่อมเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยในอาคาร จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งพนักงานรักษาความปลอดภัย ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบ 420
อาคารจอดรถเป็นอาคารห้างสรรพสินค้าที่จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการจำหน่ายสรรพสินค้า และได้ความตามหนังสือรับรองของสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ว่าจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจำหน่ายสรรพสินค้าเป็นหลัก จำเลยร่วมมีวัตถุประสงค์บริหารจัดการร้านค้าเพื่อประกอบการค้าในลักษณะศูนย์การค้าด้วย ชื่อของจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมมีคำว่า เซ็นทรัล ประกอบกับกรรมการของจำเลยที่ 3 มี น. กับอีก 11 คน ในจำนวน 11 คน มีชื่อสกุลเดียวกับ น. ถึง 9 คน ส่วนจำเลยร่วมก็มี ว. กับอีก 7 คน เป็นกรรมการในจำนวน 7 คน มีชื่อสกุลเดียวกับ ว. ถึง 5 คน ทั้งอาคารมีที่จอดรถที่เดียวกัน ใช้บัตรจอดรถเดียวกันมีเครื่องหมายของศูนย์การค้าเซ็นทรัล สาขาปิ่นเกล้า แม้จำเลยที่ 3 กับจำเลยร่วมเป็นบริษัทคนละบริษัท แต่ตามหลักฐานและพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 กับจำเลยร่วมเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าที่อาคารร่วมกัน โดยแบ่งหน้าที่กันทำ กล่าวคือจำเลยที่ 3 มีหน้าที่จำหน่ายสรรพสินค้าเป็นหลัก จำเลยร่วมมีหน้าที่บริหารจัดการรวมทั้งบริหารจัดการเกี่ยวกับการจอดรถของลูกค้า แม้จำเลยร่วมผู้เดียวลงชื่อเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าทั้งจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วม ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย โดยจำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยร่วมเป็นตัวแทนของตน จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ก – 1009 ประจวบคีรีขันธ์ แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน 187,730 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 180,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 3 มอบหมาย สั่งการ จ้าง วาน ใช้ เชิด ให้บริษัทเซ็นทรัลเรียลตี้ เซอร์วิสจำกัด ทำสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกับจำเลยที่ 2 เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 3 ขอให้เรียกบริษัทเซ็นทรัลเรียลตี้ เซอร์วิส จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 180,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 พฤษภาคม 2544) ต้องไม่เกิน 7,730 บาท กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบแต่เพียงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ลานจอดรถชั้นเกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ปล่อยปละละเลยมิได้ดูแลรักษาความปลอดภัยตามหน้าที่ของตนแก่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเป็นเหตุให้มีคนเข้ามาลักรถยนต์คันดังกล่าว หรือมีหน้าที่รับบัตรจอดรถคืนในขณะเกิดเหตุตามฟ้องโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยหายไป จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปว่า จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยในอาคารจอดรถของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาปิ่นเกล้า ที่จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการจำหน่ายสรรพสินค้าจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น ปัญหานี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังมาแล้วว่าจำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อ แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่นที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้รถที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไปจากอาคารจอดรถดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัย จำเลยร่วมทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในอาคารดังกล่าวตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย จำเลยร่วมย่อมเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยในอาคารดังกล่าว จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งพนักงานรักษาความปลอดภัยตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 ส่วนจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงได้ความว่า อาคารจอดรถดังกล่าวเป็นอาคารห้างสรรพสินค้าที่จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการจำหน่ายสรรพสินค้า และได้ความตามหนังสือรับรองของสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจำหน่ายสรรพสินค้าเป็นหลัก จำเลยร่วมมีวัตถุประสงค์บริหารจัดการร้านค้าเพื่อประกอบการค้าในลักษณะศูนย์การค้าด้วย ชื่อของจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมมีคำว่า เซ็นทรัล ประกอบกับกรรมการของจำเลยที่ 3 มีนายวันชัย กับอีก 11 คน ในจำนวน 11 คน นี้มีชื่อสกุลเดียวกับนายวันชัยถึง 9 คน ส่วนจำเลยร่วมก็มีนายวันชัย กับอีก 7 คน เป็นกรรมการ ในจำนวน 7 คน นี้ก็มีชื่อสกุลเดียวกับนายวันชัยถึง 5 คน กับได้ความจากคำเบิกความของนายนิพล หัวหน้าแผนกอาคารของจำเลยที่ 3 ด้วยว่า ทั้งอาคารมีที่จอดรถที่เดียวกัน ใช้บัตรจอดรถเดียวกัน บัตรจอดรถมีเครื่องหมายของศูนย์การค้าเซ็นทรัลสาขาปิ่นเกล้า แม้จำเลยที่ 3 กับจำเลยร่วมเป็นบริษัทคนละบริษัท แต่ตามหลักฐานและพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 กับจำเลยร่วมเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าที่อาคารดังกล่าวร่วมกัน โดยแบ่งหน้าที่กันทำ กล่าวคือจำเลยที่ 3 มีหน้าที่จำหน่ายสรรพสินค้าเป็นหลัก จำเลยร่วมมีหน้าที่บริหารจัดการรวมทั้งบริหารจัดการเกี่ยวกับการจอดรถของลูกค้า แม้จำเลยร่วมผู้เดียวลงชื่อเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย แต่พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าทั้งจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วม ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยดังกล่าวโดยจำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยร่วมเป็นตัวแทนของตนจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมด้วย เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชำระค่าเสียหายในการที่รถยนต์สูญหายไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2ที่ 3 และจำเลยร่วมได้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยร่วมคงมีหน้าที่เพียงจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 2 รายเดือนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ดังกล่าว จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 3 กับจำเลยร่วมเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันจำเลยร่วมผู้เดียวที่ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยร่วมผู้ว่าจ้างมิได้เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้จำเลยที่ 2 ทำจำเลยร่วมจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ก็ดี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ด้วย และให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น กับให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้รวม 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์