คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยยอมรับว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทเกิดจากการนำมูลหนี้ต่าง ๆ ที่มีก่อนหน้านั้น (หนี้กู้ยืมเงิน) มารวมเป็นยอดหนี้จำนอง ต้องถือว่าหนี้ประธานคือ หนี้กู้ยืมเงินซึ่งถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น สามารถแบ่งแยกดอกเบี้ยออกจากต้นเงินได้ ดังนั้น หนี้ในส่วนต้นเงินในเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.9 ซึ่งมีจำนวน 7,387,884 บาท จึงมิได้ตกเป็นโมฆะไปด้วย เมื่อรวมกับต้นเงินที่จำเลยขอกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 610,000 บาท แล้วรวมเป็นต้นเงินจำนวน 7,997,884 บาท ที่จำเลยยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 7,997,884 บาท นับแต่ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนองเป็นต้นไปเป็นเวลา 5 ปี เป็นดอกเบี้ยจำนวน 5,998,413 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 13,996,297 บาท
เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในการจำนองที่ดินพิพาท ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 13,996,297 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินของทางราชการเป็นเงิน 19,645,000 บาท ราคาทรัพย์จำนองจึงสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาบังคับเอาทรัพย์จำนองหลุดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 71848 ถึง 71852 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ ให้จำเลยไปจดทะเบียนจำนองหลุดภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่อาจบังคับเอาทรัพย์จำนองหลุดได้ ให้ยึดที่ดินทั้ง 5 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ 24,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 14,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนยกเลิกสัญญาจำนองพร้อมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 5 แปลง คืนแก่จำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 71848 ถึง 71852 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 13,996,297 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 7,997,884 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 สิงหาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินทั้ง 5 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท 5 แปลง เป็นประกันหนี้เงินกู้กับโจทก์ 5 จำนวน รวมเป็นเงิน 14,000,000 บาท โดยกำหนดให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน เมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยไม่ได้ไถ่ถอนจำนอง โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้คิดดอกเบี้ยทบต้นและมิได้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ยอดหนี้ส่วนดอกเบี้ยตามฟ้องจึงไม่ตกเป็นโมฆะ ส่วนจำเลยฎีกาว่า เมื่อฟังได้ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว โจทก์นำดอกเบี้ยทบเข้ากับเงินต้นตลอดมาตั้งแต่ปี 2523 ทำให้ไม่ทราบว่ามีต้นเงินค้างชำระที่แท้จริงเท่าใด มูลหนี้จึงไม่อาจแบ่งแยกดอกเบี้ยออกจากต้นเงินได้ มูลหนี้จึงต้องตกเป็นโมฆะทั้งหมด ซึ่งจะได้วินิจฉัยรวมกันไปในคราวเดียว ในข้อนี้ โจทก์นำสืบว่า ในการให้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนจำเลยนำสืบว่า นางระเอิบมารดาโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน และนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงิน โดยอ้างในฎีกาด้วยว่า มีการคิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมาตั้งแต่ปี 2523 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้เงินต้นค้างชำระเท่าใด เห็นว่า ไม่ปรากฏว่า โจทก์กับนางระเอิบเบิกความยอมรับตามข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวในตอนใด คงได้ความแต่เพียงว่า มีการกู้ยืมเงินกันโดยใช้ที่ดินแปลงอื่นที่มิใช่ที่ดินพิพาทเป็นประกัน ซึ่งไม่พอรับฟังได้ว่าเป็นที่มาของมูลหนี้จำนองที่ดินพิพาท ส่วนเอกสารการคำนวณยอดเงิน ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.10 และ ล.14 ถึง ล.16 นั้น ส่วนใหญ่โจทก์และนางระเอิบมิได้ยอมรับความถูกต้อง จึงไม่อาจรับฟังดังที่จำเลยอ้างได้ เว้นแต่เอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.9 เท่านั้นที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำนวนหนี้ที่คำนวณใหม่ มีดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมอยู่ด้วย เอกสารหมาย ล.7 มีลายมือเหมือนกับในเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 ซึ่งมีลายมือชื่อของโจทก์กำกับไว้ในเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 ส่วนในเอกสารหมาย ล.10 ไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ ยอดหนี้ 3,782,490 บาท ในเอกสารหมาย ล.10 เป็นจำนวนที่คิดต้นเงินบวกดอกเบี้ย ซึ่งยอดหนี้ดังกล่าวตรงกับยอดหนี้ในเอกสารหมาย ล.7 ดังนี้ เมื่อโจทก์ยอมรับว่าลายมือในเอกสารหมาย ล.7 นั้นเหมือนกับลายมือในเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 และโจทก์ยังยอมรับว่า เอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 มีลายมือชื่อโจทก์กำกับไว้ ซึ่งแสดงว่าโจทก์ยอมรับด้วยว่า โจทก์เป็นผู้ทำเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่ายอดหนี้ในเอกสารหมาย ล.7 เป็นยอดหนี้ที่มีการคำนวณเพื่อเป็นยอดหนี้ที่จะจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นยอดหนี้ที่รวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ด้วย และในเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.9 มีการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละยอดซึ่งเป็นอัตราที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และเป็นการคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระโดยมิได้มีการตกลงเป็นหนังสือ ซึ่งเป็นการแตกต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และมาตรา 655 ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ยอดหนี้ในส่วนดอกเบี้ยของยอดหนี้ในสัญญาจำนอง จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า มูลหนี้ที่จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท สามารถแบ่งแยกดอกเบี้ยออกจากเงินต้นได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยยอมรับว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทเกิดจากการนำมูลหนี้ต่างๆ ที่มีก่อนหน้านั้นมารวมเป็นยอดหนี้จำนอง จึงต้องถือว่าหนี้ประธานคือ หนี้กู้ยืมเงินซึ่งถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น สามารถแบ่งแยกดอกเบี้ยออกจากต้นเงินได้ ดังนั้น หนี้ในส่วนต้นเงินในเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.9 ซึ่งมีจำนวน 7,387,884 บาท จึงมิได้ตกเป็นโมฆะไปด้วย เมื่อรวมกับต้นเงินที่จำเลยขอกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 610,000 บาท แล้วรวมเป็นต้นเงินจำนวน 7,997,884 บาท ที่จำเลยยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 7,997,884 บาท นับแต่ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนองเป็นต้นไปเป็นเวลา 5 ปี เป็นดอกเบี้ยจำนวน 5,998,413 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 13,996,297 บาท
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดหรือไม่ เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในการจำนองที่ดินพิพาท ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 13,996,297 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินของทางราชการเป็นเงิน 19,645,000 บาท ราคาทรัพย์จำนองจึงสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้ ฎีกาอื่นของทั้งโจทก์และจำเลยนอกจากนี้ แม้จะวินิจฉัยต่อไปก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งให้เป็นพับ

Share