คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4675/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องไม่ชัดเจนพอฟังได้ว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการยับยั้งและจัดเก็บสิทธิในภาพยนตร์หมายถึงอะไร เจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิในการใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อดีข้อเสียในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยตนเองเพียงผู้เดียวหรือไม่ หากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิการร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จะทำได้ต้องทำในฐานะตัวแทนเจ้าของสิทธิในต่างประเทศ ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศให้ทำเช่นนั้นได้ด้วยและไม่เป็นการยากที่เจ้าของสิทธิในต่างประเทศจะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ชัดเจน หากมีความประสงค์เช่นนั้นจริงและหากมีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำบรรยายฟ้องให้ชัดเจน เพื่อมิให้กระทบถึงเสรีภาพของจำเลยทั้งห้าในการที่อาจถูกดำเนินคดีซ้ำสอง ตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่มีความชัดเจนในข้อนี้ กรณียังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า บริษัท บ. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าในความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต การแจ้งความร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่อุทธรณ์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 27, 28, 29, 69 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 20, 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางและให้แผ่นซีดี ภาพยนตร์เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง, 34 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งห้าแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเพียงลูกจ้างประกอบกับจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดทีที เคเบิล และเป็นผู้ซื้อแผ่นซีดี ภาพยนตร์เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ซึ่งจำเลยทั้งห้ามาทำการแพร่ภาพและเสียงแก่ประชาชนทั่วไปที่เป็นสมาชิก ให้ลงโทษฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 200,000 บาท ฐานฉายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา ปรับ 10,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 2 เดือน และปรับ 210,000 บาท จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพ นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 105,000 บาท เมื่อพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยที่ 5 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 5 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กับให้จำเลยที่ 5 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 5 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้แผ่นซีดีภาพยนตร์เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้เสียหาย ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จ่ายให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76 ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบแผ่นซีดีภาพยนตร์และเพลงที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจำนวน 1,308 แผ่น นั้น การกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าฐานนี้เกิดจากการที่ไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แผ่นซีดีภาพยนตร์และเพลงของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) คำขอส่วนนี้จึงให้ยกเสีย
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย เป็นเจ้าของสิทธิและได้สิทธิภาพยนตร์เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ซึ่งมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อยับยั้งและจัดเก็บสิทธิในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย มีความชัดเจนพอที่จะถือได้ว่า บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันแพร่ภาพและเสียงงานภาพยนตร์ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องไม่ชัดเจนพอฟังได้ว่าสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการยับยั้งและจัดเก็บสิทธิในภาพยนตร์หมายถึงอะไร เจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิในการใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อดีข้อเสียในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยตนเองเพียงผู้เดียวหรือไม่ หากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิ การร้องทุกข์โดยบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จะทำได้ต้องทำในฐานะตัวแทนเจ้าของสิทธิในต่างประเทศ ซึ่งก็ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศให้ทำเช่นนั้นได้ด้วยและไม่เป็นการยากที่เจ้าของสิทธิในต่างประเทศจะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ชัดเจนหากมีความประสงค์เช่นนั้นจริงและหากมีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำบรรยายฟ้องให้ชัดเจน เพื่อมิให้กระทบถึงเสรีภาพของจำเลยทั้งห้าในการที่อาจถูกดำเนินคดีซ้ำสอง เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่มีความชัดเจนในข้อนี้ กรณียังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวได้ การแจ้งความร้องทุกข์โดยบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่อุทธรณ์ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share