คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10577/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดินและถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วยการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 165, 267, 268, 341, 83, 84, 86, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 วรรคแรก, 341 ประกอบมาตรา 83 สำหรับความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จและฐานใช้เอกสารเท็จ ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง และความผิดฐานใช้เอกสารที่แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จและฐานฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวกันซึ่งมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารที่แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 300,000 บาท โดยออกเช็คให้โจทก์ไว้ และจำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินโจทก์ 450,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกเช็คให้โจทก์ไว้ ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลแขวงพระโขนง ในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยโจทก์เข้าเป็นโจทก์ร่วม ตามคดีหมายเลขดำที่ 6334/2545 และ 77/2546 และฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามเช็ค 300,000 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 865/2546 ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 ตำบลวังชมภู อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ของจำเลยที่ 1 ราคาประเมิน 480,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ของจำเลยที่ 3 ราคาประเมิน 1,302,000 บาท ให้แก่โจทก์ แล้วโจทก์จะถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ทั้งนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 เป็นผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองราคาประเมิน และให้ถ้อยคำต่อจำเลยที่ 5 เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 7 ปฏิบัติราชการแทนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้ทำการปรับปรุงเป็นที่ดินพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 5 ออกหนังสือรับรองราคาประเมินตารางวาละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,302,000 บาท ต่อมาโจทก์รับโอนที่ดินทั้งสองแปลงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 เป็นผู้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 ให้แก่โจทก์ โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่ง ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 โจทก์ตรวจสอบที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 โดยขอหนังสือรับรองราคาประเมิน นายประยูร นักวิชาการที่ดิน 6 ปฏิบัติราชการแทนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ ออกหนังสือรับรองราคาประเมินตารางวาละ 110 บาท รวมเป็นเงิน 143,220 บาท ก่อนนี้นางสาวสาริ เจ้าพนักงานผู้ประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ ประเมินราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 ตารางวาละ 90 บาท รวมเป็นเงิน 117,180 บาท เพื่อใช้ในการจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวระหว่างนายสมคิดและนางเจียมจิต เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้ให้ถ้อยคำต่อนางสาวสาริ สำหรับคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันแจ้งให้จำเลยที่ 5 เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดดังกล่าวด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 เจ้าของที่ดินยื่นคำขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 ต่อจำเลยที่ 5 ว่าที่ดินเป็นที่อาศัย และแจ้งให้จำเลยที่ 5 เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความในคำขอดังกล่าวว่าที่ดินได้พัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ดังนี้ แม้ข้อความที่จำเลยที่ 4 แจ้งให้จำเลยที่ 5 จดนั้นเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยความจริงที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินได้พัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแล้วก็ตาม แต่คำเบิกความของนายสมคิดและนายสมศักดิ์ นายช่างรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ความว่า เดิมนายสมคิดและนางเจียมจิตเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ มีสภาพเป็นที่ไร่ปลูกข้าวโพดและต้นมะขาม และขายต่อไป แต่ก่อนขายได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ไปขอรังวัดแบ่งแยก โดยนายสมศักดิ์ได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินเป็น 8 แปลง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2546 และภายหลังได้รังวัดแบ่งแยกอีกเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2546 ตามคำขอของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ซื้อ โดยรังวัดแบ่งแยกรวม 49 แปลง ซึ่งรวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 ด้วย ในการรังวัดได้แบ่งแยกเป็นทางสาธารณะผ่านที่ดินที่แบ่งแยกทุกแปลง ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2546 จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ซื้อยื่นคำขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินแปลงที่แบ่งแยกทุกแปลง ซึ่งรวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 ด้วย โดยระบุในคำขอทุกแปลงว่าเป็นที่ดินได้พัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว และระบุความประสงค์ว่าเพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการขอประกันตัวผู้ต้องหา เห็นได้ว่า จำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินได้กระทำการเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ และแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กตั้งแต่ก่อนและภายหลังซื้อ จากนั้นขอออกหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยก ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 4 หรือผู้ซื้อที่ดินมีจุดมุ่งหมายต้องการใช้หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินที่เป็นแปลงเล็กในกิจการใดกิจการหนึ่งที่มีลักษณะเป็นโครงการ แต่จำเลยที่ 4 นำหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 เพียงแปลงเดียวไปใช้เป็นหลักฐานเพื่อให้โจทก์รับโอนที่ดิน จากสำเนารายงานกระบวนพิจารณาได้ความว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เจรจากันเกี่ยวกับการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ในคดีก่อนอย่างเร็วเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 แสดงว่าจำเลยที่ 4 ขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 ก่อนโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เจรจากันเกี่ยวกับการโอนที่ดิน เชื่อว่าขณะจำเลยที่ 4 ยื่นคำขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีเจตนาจะใช้หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานให้โจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 การที่จำเลยที่ 4 แจ้งให้จำเลยที่ 5 เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ออกหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ในความผิดดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดฐานใช้เอกสารที่แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 และหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดิน และถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว ทำให้จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินไม่ต้องชดใช้เงินตามเช็คที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 267 คำฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) อย่างไรก็ดีเอกสารที่เกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ คือ คำขอหนังสือรับรองราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน มิใช่หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นผลมาจากการแจ้งดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่ใช่การใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 267 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงจะต้องได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่าหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินโฉนดเลขที่ 70225 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นำมาแสดงต่อโจทก์ มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงมีราคาประเมิน 117,180 บาท ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และโจทก์ตกลงกันในคดีก่อนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ให้แก่โจทก์ แล้วโจทก์จะถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี เมื่อโจทก์รับโอนที่ดินแล้วถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองและถอนฟ้องคดีแพ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วยการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share