คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินและบ้านพิพาท ป. ผู้ตายซื้อมาและปลูกสร้างหลังจาก ป. และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกัน จึงเป็นสินสมรส เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อน ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งทันทีที่ ป. ถึงแก่ความตาย ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ป. เมื่อที่ดินและบ้านส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก น. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนโอนเป็นมรดกแก่ น. และนำไปจดทะเบียนขายฝากให้โจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับ น. หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทส่วนของตน การจดทะเบียนขายฝากไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนที่ดินและบ้านพิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. คนละส่วนเท่า ๆ กัน การที่ น. จดทะเบียนที่ดินและบ้านพิพาทโอนเป็นของตนแต่ผู้เดียวและนำไปขายฝากให้โจทก์ ถือเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจของการจัดการมรดก หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะทายาทเห็นว่า ไม่ถูกต้องและทำให้ตนได้รับความเสียหาย ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก น. ได้ การที่โจทก์จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงชอบและผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง เมื่อการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกชอบและไม่มีการไถ่การขายฝาก กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านส่วนนี้จึงตกเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยมีส่วนเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 2 ขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเข้าใช้สอยทรัพย์พิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทกระทำการขัดขวางมิให้โจทก์เข้าใช้ทรัพย์พิพาท จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 25 ซอยพัฒนาการ 69 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร พร้อมกับชำระค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหาย จำนวน 300,000 บาท กับค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 25 ซอยพัฒนาการ 69 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 110500 และ 110501 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร กับให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 8,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 จนกว่าจำเลยทั้งห้าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทกับให้ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลเอกปฐม มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นางนริศราและจำเลยที่ 1 พลเอกปฐมถึงแก่ความตาย ต่อมานางนริศราไปยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางนริศราเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมานางนริศรานำที่ดินโฉนดเลขที่ 110500 และ 110501 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ได้มาในระหว่างสมรสไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่โจทก์มีกำหนดเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนดเวลามีการขยายเวลาไถ่การขายฝากสองครั้ง เมื่อครบกำหนดแล้วไม่มีการไถ่การขายฝาก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า สัญญาขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างนางนริศรากับโจทก์มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินมีพลเอกปฐม ผู้ตายซื้อมาและปลูกสร้างหลังจากพลเอกปฐมและจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกันจึงเป็นสินสมรส เมื่อพลเอกปฐมถึงแก่ความตายจึงต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อน ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งทันทีในวันที่พลเอกปฐมถึงแก่ความตาย ส่วนอีกกึ่งหนึ่งจึงเป็นทรัพย์มรดกของพลเอกปฐม เมื่อที่ดินและบ้านพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดกของพลเอกปฐม นางนริศราในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนโอนเป็นมรดกตกแก่นางนริศราและต่อมานำไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์ การกระทำของนางนริศราเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของผู้จัดการมรดก จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะอ้างว่าสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 2 สมคบคิดกับนางนริศราหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 การจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทส่วนนี้ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ดินและบ้านพิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของพลเอกปฐมย่อมตกแก่ทายาทคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนางนริศราคนละส่วนเท่า ๆ กัน การที่นางนริศราซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกอยู่ด้วย จดทะเบียนที่ดินและบ้านพิพาทโอนเป็นมรดกตกแก่ตนผู้เดียวและต่อมานำไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์ถือว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจการจัดการมรดก หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะทายาทเห็นว่าไม่ถูกต้องและทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากนางนริศราได้ การที่โจทก์จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของพลเอกปฐมโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่สุจริต จึงชอบและมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนางนริศราตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่รับซื้อฝากที่ดินและบ้านพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของพลเอกปฐม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของพลเอกปฐมชอบและไม่มีการไถ่การขายฝากกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทในทรัพย์ส่วนนี้จึงเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยมีส่วนเท่ากัน ซึ่งตามมาตรา 1360 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติ เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ด้วย การที่จำเลยที่ 2 ขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและบ้านพิพาทเข้าใช้สอยทรัพย์พิพาท จึงถือว่าเป็นการขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวม การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทกระทำการขัดต่อสิทธิโดยขัดขวางมิให้โจทก์เข้าใช้ทรัพย์พิพาทโดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดไถ่การขายฝากจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท
อนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้า ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ย่อมขัดกัน เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (1) บัญญัติไว้ว่า ให้พึงเข้าใจว่า คดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์และคดีฟ้องขับไล่นั้นเป็นประเภทเดียวกัน จึงเห็นสมควรให้โจทก์และจำเลยที่ 2 เจรจาตกลงกันก่อนว่าจะแบ่งที่ดินและบ้านพิพาทกันหรือไม่อย่างไร หากตกลงกันไม่ได้ให้ขายที่ดินและบ้านพิพาทแล้วนำเงินมาแบ่งกันโดยให้ประมูลราคากันเองระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ก่อน หากดำเนินการไม่สำเร็จให้นำที่ดินและบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และจำเลยที่ 2 เจรจาตกลงกันว่า จะแบ่งที่ดินและบ้านพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 110500, 110501 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และบ้านเลขที่ 25 ซอยพัฒนาการ 69 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร กันหรือไม่อย่างไร หากตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินและบ้านพิพาทออกขายนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง โดยให้ประมูลราคากันเองระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 หากดำเนินการไม่สำเร็จให้นำที่ดินและบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกัน สำหรับจำเลยทั้งห้าให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 จนกว่าจำเลยทั้งห้าจะขนย้ายออกจากที่ดินและบ้านพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share