แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เป็นคู่ความในคดีต้องเป็นบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย และคำว่าบุคคลนั้น ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มีวัตถุประสงค์เก็บรวบรวมเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมจากกลุ่มออมทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เมื่อมิได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคล และตามคำฟ้องที่ระบุว่าคณะกรรมการและสมาชิก โจทก์มีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์ย่อมมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในคดีส่วนอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงิน 1,882,171 บาท แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 83 (ที่ถูกประกอบมาตรา 83) จำคุกคนละ 3 ปี ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงิน 1,882,171 บาท แก่โจทก์ ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์) โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 แถลงต่อศาลว่า จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ตามใบมรณบัตรท้ายรายงานกระบวนพิจารณา นายจำนงค์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีมาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลแต่โจทก์คือกลุ่มของบุคคลซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา สมาชิกและกรรมการของโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายจำนงค์ ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง แม้โจทก์ระบุชื่อว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านน้อยหนองบอน ก็คือคนหลายคนร่วมกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ผู้เป็นคู่ความในคดีต้องเป็นบุคคลซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 บัญญัติให้บุคคลที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้แก่ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย และคำว่าบุคคลนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ตามฟ้องของโจทก์ โจทก์มีวัตถุประสงค์เก็บรวบรวมเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมจากกลุ่มออมทรัพย์ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เมื่อมิได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลและตามคำฟ้องของโจทก์ที่ระบุว่าคณะกรรมการและสมาชิกโจทก์มีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่า บุคคลดังกล่าวฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน โจทก์จึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในคดีส่วนอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาคา 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน