แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์คืนเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายให้แก่ลูกจ้าง (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่สามารถจัดหาบุคคลอื่นมารับมอบหน้าที่จากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้บังคับบัญชาไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 สะสางงานที่คั่งค้างหรือดำเนินการให้ค้นหาหรือชี้แจงเกี่ยวกับเอกสารที่อ้างว่าสูญหาย และไม่สามารถระบุได้ว่าเอกสารที่โจทก์อ้างว่าสูญหายนั้นคือเอกสารอะไร ลูกค้ารายใด จำนวนเงินเท่าใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินประกันให้จำเลยที่ 1 คำพิพากษามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายผู้ยื่นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11), 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานกลางได้มีพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือให้งดเสียถ้าหากมี
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ลาออกโดยมิได้สะสางและส่งมอบงานบัญชีที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แก่ผู้จัดการฝ่ายบัญชีคนใหม่ ไม่ดูแลเอกสารของลูกหนี้ทำให้เอกสารสูญหายหลายรายการซึ่งเป็นเหตุอย่างเดียวกันกับที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดแต่โจทก์ก็ถูกผูกพันตามคำพิพากษานั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้ ข้อ 1 ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่ ข้อ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ข้อ 3 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในขณะเป็นลูกจ้างโจทก์ถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหายนั้น ศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อนี้ก่อนแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน ละเมิด และค้ำประกัน สำหรับคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลางโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์คืนเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานให้แก่ลูกจ้าง (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคนละเรื่องกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เห็นว่า แม้คดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลางโจทก์จะฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยเพื่อขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์คืนเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจำนวน 14,300 บาท ให้แก่ลูกจ้าง (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำผิดสัญญาจ้างแรงงานของจำเลยที่ 1 ไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 ลาออกโดยบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ตามระเบียบข้อบังคับเพื่อให้โจทก์จัดหาบุคคลอื่นมารับมอบงาน แต่โจทก์ไม่สามารถจัดหาบุคคลอื่นมารับมอบหน้าที่จากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 สะสางงานที่คั่งค้างหรือดำเนินการให้ค้นหาหรือชี้แจงเกี่ยวกับเอกสารที่อ้างว่าสูญหาย เอกสารของลูกหนี้หลายรายที่โจทก์อ้างว่าสูญหายจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเอกสารที่สูญหายนั้นคือเอกสารอะไร ลูกค้ารายใด จำนวนเงินเท่าใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ในคดีนี้โจทก์ก็ยังฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ลาออกโดยมิได้สะสางและส่งมอบงานบัญชีที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แก่ผู้จัดการฝ่ายบัญชีคนใหม่ ไม่ดูแลรักษาเอกสารของลูกหนี้ทำให้เอกสารสูญหายหลายรายการซึ่งเป็นเหตุการณ์กระทำอย่างเดียวกันกับที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 แล้ว แม้คดีดังกล่าวนั้นยังไม่ถึงที่สุดแต่ศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ผลแห่งการวินิจฉัยและคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548ย่อมมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียถ้าหากมีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ดังนี้เมื่อโจทก์ในคดีนี้เป็นโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นบุคคลผู้ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง อันเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์จึงมีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ด้วย กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน