คำวินิจฉัยที่ 42/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนเจ้าของที่ดินมือเปล่าฟ้องกรมที่ดิน จำเลยที่ ๒ และเอกชนด้วยกัน ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการถูกจำเลยที่ ๑ ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ทับที่ดินของโจทก์ แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๓ จากนั้นนำไปขอออกโฉดที่ดิน โดยไม่มีสิทธิ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินโจทก์ และให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนอง ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ ซึ่งบิดามารดาของจำเลยที่ ๑ ได้มาโดยการซื้อและเข้าก่อสร้างบุกเบิกด้วยตนเองบางส่วน แล้วต่อมาจึงยกให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ เข้าครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา ส่วนบิดามารดาของโจทก์และโจทก์เป็นคนงานของบิดามารดาจำเลยที่ ๑ และเข้ามาขออยู่อาศัยในที่ดินพิพาท การครอบครองของโจทก์จึงกระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า สัญญาจำนองชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ก็ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ และห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ พร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท กับให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกเป็นชื่อบุคคลอื่นเฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นสำคัญ และในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้นั้นก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๒/๒๕๕๗

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔ นายจำลอง แก้วคำ โจทก์ ยื่นฟ้องนายคูณ แซ่สื่อหรือพจน์พรหมมณี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๒๖๑/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ ๒๘ ไร่ ๔๘ ตารางวา โดยโจทก์ร่วมกับบิดามารดาเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจนโจทก์อายุ ๒๐ ปี บิดามารดาจึงยกที่ดินให้โจทก์ โจทก์ปลูกบ้านสองหลังและให้บุคคลอื่นปลูกบ้านในที่ดินรวม ๑๓ หลัง โจทก์ครอบครองนับถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๔๓ ปี เป็นการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ โจทก์ได้สิทธิครอบครอง เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ มีเจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าที่ดินของโจทก์ติดจำนองธนาคาร โจทก์ตรวจสอบพบว่าปี ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๑ ขอออกหลักฐานที่ดินเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๘๔๖ และบางส่วนที่ดินของโจทก์ก็อยู่ในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๗ และเลขที่ ๑๘๔๘ ของจำเลยที่ ๑ และเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ นำ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๗ และเลขที่ ๑๘๔๘ จดทะเบียนจำนองกับจำเลยที่ ๓ ต่อมาในปี ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๒ ได้เปลี่ยน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๖ ถึงเลขที่ ๑๘๔๘ เป็นโฉนดที่เลขที่ ๔๕๓๕๑ ถึงเลขที่ ๔๕๓๕๓ ตามลำดับ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องและครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งไม่ใช่เจ้าของและไม่มีสิทธินำที่ดินไปแจ้งแสดงตนเป็นเจ้าของต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อและออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๖ เลขที่ ๑๘๔๗ และเลขที่ ๑๘๔๘ และเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๕๓๕๑ เลขที่ ๔๕๓๕๒ และเลขที่ ๔๕๓๕๓ เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินโจทก์ และให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินมือเปล่าตามที่โจทก์อ้างเป็นของจำเลยที่ ๑ และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๔๕๓๕๑ เลขที่ ๔๕๓๕๒ และเลขที่ ๔๕๓๕๓ ซึ่งบิดามารดาของจำเลยที่ ๑ ได้มาโดยการซื้อและเข้าก่นสร้างบุกเบิกด้วยตนเองบางส่วน และในปี ๒๕๑๔ จึงยกให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ เข้าครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา ส่วนบิดามารดาของโจทก์และโจทก์เป็นคนงานของบิดามารดาจำเลยที่ ๑ เข้ามาขออยู่อาศัย ในที่ดินพิพาท การครอบครองของโจทก์ จึงกระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวาร ให้ขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อย และให้ชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราสั่งไม่รับฟ้องแย้ง เพราะจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในกำหนด
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า สัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือคำสั่งทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และการออกโฉนดที่ดินที่โจทก์อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับ สิทธิในที่ดิน ความมุ่งหมายในการฟ้องคดีก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาและคุ้มครองสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์ประสงค์จะให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในเมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีต่อไป เพื่อให้ได้ความว่าการดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๒ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดิน จำเลยที่ ๒ จึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทที่ศาลจะพิพากษาเฉพาะสิทธิในที่ดินเพียงอย่างเดียว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นประเด็นหลักของคดี ทั้งนี้ เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อไป ไม่ใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินโดยเฉพาะเท่านั้น

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินมือเปล่า ด้วยความสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา ๔๓ ปี แต่ถูกจำเลยที่ ๑ ขอออกหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๘๔๖ เลขที่ ๑๘๔๗ และเลขที่ ๑๘๔๘ ทับที่ดินของโจทก์ แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๓ จากนั้นนำไปขอออกโฉดที่ดินเลขที่ ๔๕๓๕๑ ถึงเลขที่๔๕๓๕๓ ตามลำดับโดยไม่มีสิทธิ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๖ เลขที่ ๑๘๔๗ และเลขที่ ๑๘๔๘ และเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๕๓๕๑ เลขที่ ๔๕๓๕๒ และเลขที่ ๔๕๓๕๓ เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินโจทก์ และให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนอง ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๔๕๓๕๑ เลขที่ ๔๕๓๕๒ และเลขที่ ๔๕๓๕๓ ซึ่งบิดามารดาของจำเลยที่ ๑ ได้มาโดยการซื้อและเข้าก่นสร้างบุกเบิกด้วยตนเองบางส่วน แล้วต่อมาจึงยกให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ เข้าครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา ส่วนบิดามารดาของโจทก์และโจทก์เป็นคนงานของบิดามารดาจำเลยที่ ๑ และเข้ามาขออยู่อาศัยในที่ดินพิพาท การครอบครองของโจทก์จึงกระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า สัญญาจำนองชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ก็ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ และห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ พร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท กับให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกเป็นชื่อบุคคลอื่นเฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นสำคัญ และในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้นั้นก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายจำลอง แก้วคำ โจทก์ นายคูณ แซ่สื่อหรือพจน์พรหมมณี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share