คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3657/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือเตือนทั้งสองฉบับในการกระทำความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีข้อความว่า “ลงโทษโดยเตือนเป็นครั้งสุดท้าย” วิญญูชนย่อมเข้าใจว่าเป็นข้อความเตือนไม่ให้กระทำผิดในประเภทเดียวกันซ้ำอีก ทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุว่าโทษลำดับถัดจากการเตือนเป็นครั้งสุดท้ายคือการเลิกจ้าง โจทก์ย่อมเข้าใจได้ว่าหากกระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซ้ำอีกโจทก์อาจถูกลงโทษสถานหนักโดยการเลิกจ้าง เมื่อโจทก์กระทำผิดในเรื่องเดียวกันซ้ำอีกภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์กระทำผิดตามหนังสือเตือน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 53,500 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,850 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วัน 5,950 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 93,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 53,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 ธันวาคม 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,950 บาท จำเลยชำระแก่โจทก์แล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 มิถุนายน 2549 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งผู้จัดการศูนย์สุขภาพ มีหน้าที่ดูแลศูนย์สุขภาพและห้องออกกำลังกายชั้น 5 ของโรงแรม ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 17,850 บาท จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์มีนางจันทร์เพ็ญ เป็นผู้บังคับบัญชา นางจันทร์เพ็ญเตือนโจทก์ด้วยวาจา และเป็นหนังสือ ต่อมาจำเลยให้นายลือศักดิ์ เข้ามาเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ร่วมกับนางจันทร์เพ็ญ นายลือศักดิ์ออกหนังสือเตือนโจทก์ตาม โจทก์ลงชื่อรับทราบในเอกสารหมาย ล.2 ล.3 และ ล.5 ส่วนเอกสารหมาย ล.4 ไม่ยอมลงชื่อ นายลือศักดิ์มีคำสั่งสอบสวนโจทก์ นายไพโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้สอบสวนแล้วเสนอผลการสอบสวนเป็นหนังสือให้นายลือศักดิ์ทราบ นายฉลอง ผู้จัดการทั่วไปอนุมัติให้เลิกจ้างโจทก์ ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2548 นายไพโรจน์ทำคำสั่งที่ 3/2548 เรื่องความผิดพนักงาน เลิกจ้างโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า การที่นายลือศักดิ์มีคำสั่งให้โจทก์ทำป้ายกำหนดช่องเครื่องรับโทรทัศน์ กำหนดเวลาเปิดปิดให้ลูกค้าทราบเพื่อมิให้ลูกค้าเปลี่ยนช่องเอง และทำป้ายแจ้งไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าไปใช้บริการในห้องออกกำลังกายนั้น เป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ต่อมาโจทก์จงใจขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กระทำความผิดฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา บกพร่องต่อหน้าที่และไม่บันทึกเวลาเข้าทำงาน 6 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม 2548 นั้น หนังสือเตือนจะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างตักเตือนลูกจ้างที่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างมิให้กระทำผิดซ้ำในเรื่องเดียวกันหากกระทำจะถูกลงโทษ แต่การกระทำผิดในเรื่องปล่อยปละละเลยไม่ดูแลคอมพิวเตอร์และไม่จัดหาที่วางอุปกรณ์ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการกระทำผิดในเรื่องบกพร่องต่อหน้าที่โดยไม่ดูแลห้องออกกำลังกายให้สะอาด ละเลยไม่ติดตามการบำรุงรักษาเครื่องออกกำลังกายรวมทั้งจ่ายค่าจ้างแก่ผู้ฝึกสอนโดยไม่มีผู้เข้าฝึกไม่ใช่การกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดียวกันและเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความว่าหากโจทก์กระทำผิดเช่นนั้นซ้ำอีกจะถูกลงโทษอย่างไร จึงไม่ใช่หนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และการกระทำผิด ก็เป็นเรื่องไม่บันทึกเวลาเข้าทำงานซึ่งจำเลยได้ลงโทษโจทก์โดยตัดเงินค่าบริการ 4 วัน แล้ว จึงนำมาเป็นสาเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีไม่ร้ายแรงและจำเลยไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดแก่โจทก์ แม้โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยของค่าชดเชยแก่ลูกจ้างระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 โดยให้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ขอ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนอันเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์กระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา 2 ครั้ง จำเลยได้ออกหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ซึ่งมีข้อความว่า “ลงโทษโดยเตือนเป็นหนังสือครั้งสุดท้าย” ต่อมาโจทก์กระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาซ้ำอีก จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) มีเจตนารมณ์ให้นายจ้างออกหนังสือเตือนเพื่อแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และต่อไปภายหน้าลูกจ้างจะไม่กระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีก หนังสือเตือนจึงต้องแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างพอที่จะให้ลูกจ้างเข้าใจการกระทำผิดของตนได้ และต้องมีข้อความเตือนไม่ให้กระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีก หนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ที่มีข้อความระบุว่าโจทก์กระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาพร้อมทั้งระบุรายละเอียดพฤติการณ์แห่งการกระทำผิด สถานที่และวันที่กระทำผิด จึงเพียงพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจถึงการกระทำผิดได้ นอกจากนี้หนังสือเตือนทั้งสองฉบับดังกล่าวที่มีข้อความว่า “ลงโทษโดยเตือนเป็นครั้งสุดท้าย” นั้น วิญญูชนที่ได้อ่านข้อความย่อมเข้าใจว่าเป็นข้อความเตือนไม่ให้กระทำผิดในประเภทเดียวกันอีก ทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 8 เรื่องวินัยและโทษทางวินัย กำหนดประเภทและลำดับโทษทางวินัยว่าโทษลำดับถัดจากการเตือนเป็นครั้งสุดท้ายคือการเลิกจ้าง โจทก์ย่อมเข้าใจได้ว่าหากกระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซ้ำอีกโจทก์อาจถูกลงโทษสถานหนักโดยการเลิกจ้าง เมื่อการกระทำผิดครั้งหลังที่มีขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ก็เป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยไม่ทำป้ายกำหนดช่องรับชมโทรทัศน์และไม่ทำป้ายห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 16 ปี ใช้บริการห้องออกกำลังกาย แม้การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทั้งสองครั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 และวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ตามหนังสือเตือนมีรายละเอียดแตกต่างจากการกระทำผิดครั้งหลังของโจทก์ ดั่งจะเห็นได้จากข้อความในหนังสือเตือนที่ว่าโจทก์ไม่ดำเนินการแก้ไขคอมพิวเตอร์ให้ใช้การได้ ไม่จัดหาที่วางอุปกรณ์ และไม่ควบคุมดูแลห้องออกกำลังกายให้อยู่ในสภาพสะอาด เป็นการปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของหัวหน้า แต่การกระทำผิดของโจทก์ตามหนังสือเตือนและการกระทำผิดครั้งหลังก็เป็นความผิดเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเช่นเดียวกัน ถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โจทก์ได้กระทำผิดในเรื่องเดียวกันซ้ำอีกภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์กระทำผิดตามหนังสือเตือน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ประการอื่นของจำเลยนั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share