แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และ จ. หรือไม่ และหากเป็นสินสมรสแล้วโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียงใด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสินสมรสและบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ส่วนแบ่งในสินสมรสว่าต้องแบ่งตามกฎหมายฉบับใดและควรจะเป็นเท่าใดตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ได้
ส. และ จ. อยู่กินเป็นสามีภริยาก่อนปี 2478 จึงเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่จดทะเบียนสมรสเพราะอยู่กินกันก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 พ.ศ.2477 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 4 บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 การแบ่งสินสมรสของ ส. และ จ. จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 แม้ ส. จะได้ที่ดินพิพาทมาหลังจากใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 แล้ว คือ ส. ได้ 2 ใน 3 ส่วน จ. ได้ 1 ใน 3 ส่วน โดยทรัพย์ส่วนของ จ. เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของ จ. ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4742 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 30 ถนนสุขุมวิท ซอย 10 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ในอัตราคนละ 43.66 ส่วนใน 524 ส่วน ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7402 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร ในอัตราคนละ 8 ส่วนใน 96 ส่วน และในที่ดินโฉนดเลขที่ 7403 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร ในอัตราคนละ 9.58 ส่วนใน 115 ส่วน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ภาษี และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด หากจำเลยไม่สามารถดำเนินการได้ ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 18,562,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4742 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 30 ถนนสุขุมวิท ซอย 10 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ในอัตราคนละ 21.83 ส่วนใน 524 ส่วน ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7402 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร ในอัตราคนละ 4 ส่วน ใน 96 ส่วน และในที่ดินโฉนดเลขที่ 7403 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร ในอัตราคนละ 4.79 ส่วน ใน 115 ส่วน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ภาษี และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 3,959,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเพียงเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองที่ว่า ทรัพย์มรดกที่พิพาทเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งปันกันระหว่างคู่สมรสคนละส่วนเท่า ๆ กัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ใช้บังคับแล้วหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายสะอาดและนางจรรยาหรือไม่ และหากเป็นสินสมรสแล้วโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียงใด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสินสมรสและบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 โดยนายสะอาดได้ 2 ใน 3 ส่วน นางจรรยาได้ 1 ใน 3 ส่วน ส่วนแบ่งในสินสมรสว่าต้องแบ่งตามกฎหมายฉบับใดและควรจะเป็นเท่าใดตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน เห็นว่า นายสะอาดและนางจรรยาเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่จดทะเบียนสมรสเพราะอยู่กินกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ.2477 ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 ดังนั้น การแบ่งสินสมรสของนายสะอาดกับนางจรรยา ซึ่งสมรสกันก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 แม้นายสะอาดจะได้ทรัพย์พิพาทมาหลังจากใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว หาใช่แบ่งให้คนละส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1533 ไม่ ดังนั้นจึงต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งนายสะอาดได้ 2 ใน 3 ส่วน นางจรรยาได้ 1 ใน 3 ส่วน โดยทรัพย์ส่วนของนางจรรยาเป็นมรดกย่อมตกได้แก่ทายาทของนางจรรยาซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ