คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ
โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสามรับชำระเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดเลขที่ 22/500 ชั้นที่ 16 อัตราเดือนละ 878 บาท และเลขที่ 22/579 ชั้นที่ 21 อัตราเดือนละ 805 บาท ย้อนหลังไป 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับชำระเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดเลขที่ 22/500 ชั้นที่ 16 และเลขที่ 22/579 ชั้นที่ 21 อาคารเลขที่ 1 อาคารชุดเอเวอร์กรีน วิว ทาวเวอร์ ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 32/2536 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 233102 แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ในอัตราเดือนละ 878 บาท และในอัตราเดือนละ 805 บาท ตามลำดับ ย้อนหลังไป 5 ปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 เมษายน 2554) พร้อมค่าปรับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางห้องพิพาททั้งสองห้องดังกล่าวจากโจทก์ เมื่อโจทก์ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับดังกล่าวครบถ้วนแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มีหน้าที่จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางอาคารชุดเอเวอร์กรีน วิว ทาวเวอร์ ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 32/2536 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 233102 แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 และวันที่ 2 มิถุนายน 2552 โจทก์ประมูลซื้อได้ห้องชุดเลขที่ 22/500 ชั้นที่ 16 และเลขที่ 22/579 ชั้นที่ 21 อาคารเลขที่ 1 อาคารชุดเอเวอร์กรีน วิว ทาวเวอร์ จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 พิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนกลางส่วนที่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) จำเลยที่ 1 แจ้งว่าค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มไม่สามารถลดหย่อนได้ แต่ลดค่าปรับให้ได้ร้อยละ 70 คงให้ชำระเพียงร้อยละ 30 แต่โจทก์ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไป
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาอีกว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่ม ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 และ 18/1 มิใช่เงินค้างจ่ายซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) เห็นว่า ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้ อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ได้หรือไม่ เห็นว่า ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 และที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ตามที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี และตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 นั่นเอง จึงชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง กับไม่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อทรัพย์จากขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต โดยรู้เห็นกับลูกหนี้ดังที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดค่าปรับจึงชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ที่ศาลชั้นต้นลดค่าปรับลงเหลือในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ยังไม่เป็นจำนวนที่พอสมควร ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้ปรับในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือร้อยละ 12 ต่อปี ส่วนเงินเพิ่มจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกได้ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18/1 ที่แก้ไขใหม่ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เพราะใช้บังคับกับอาคารชุดที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขกฎหมายด้วย และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18/1 โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้ชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน และชำระเงินเพิ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 เมษายน 2554) ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share