คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ “โดยทุจริต” ตามบทนิยามความหมายของคำว่า “โดยทุจริต” ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 83 ปรับคนละ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาฐานปล้นทรัพย์ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ก่อนว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์นอกจากจะใช้สิทธิขออนุญาตซักถามผู้เสียหายที่เบิกความเป็นปรปักษ์กับโจทก์แล้ว โจทก์ยังได้เตือนให้ผู้เสียหายทราบถึงความรับผิดทางอาญาเกี่ยวกับการให้การหรือเบิกความอันเป็นเท็จด้วย ประกอบกับทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่า นอกจากการได้ทรัพย์ของตนคืนแล้ว ผู้เสียหายจะได้รับผลประโยชน์อะไรตอบแทนจากจำเลยทั้งสี่ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถูกเตือนถึงความรับผิดทางอาญา ผู้เสียหายยังอ้างเหตุผลประกอบอีกว่า เพราะเหตุง่วงนอนและดื่มสุรา จึงลงชื่อในบันทึกคำให้การโดยมิได้อ่าน ซึ่งก็มีเหตุน่าเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะปรากฏจากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวน ดาบตำรวจเอกวัฒน์ ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการจับกุมจำเลยทั้งสี่ และยึดได้ทรัพย์ของกลางในครอบครองของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อไอโมบาย 1 เครื่อง ใส่ไว้ในกระเป๋าสะพายที่มือข้างซ้ายของจำเลยที่ 1 ยึดได้สร้อยสแตนเลสพร้อมพระเลี่ยมกรอบ 3 องค์ ที่มือข้างขวาของจำเลยที่ 2 และยึดธนบัตรเป็นเงิน 1,700 บาท ที่มือข้างซ้ายของจำเลยที่ 3 ซึ่งตรงกับที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวน ในรายละเอียดว่าตรวจพบยึดได้จากมือข้างไหนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อย่างน่าอัศจรรย์ใจว่า เหตุใดทั้งผู้เสียหายและดาบตำรวจเอกวัฒน์ถึงมีความละเอียดละออในการจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรายละเอียดได้ถูกต้องตรงกันถึงขนาดนั้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาประกอบบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้นั้น ยิ่งเห็นข้อพิรุธชัดเจนว่า พนักงานสอบสวนมิได้สอบปากคำพยานบุคคลในคดีนี้ โดยบันทึกปากคำตามที่พยานหรือผู้ต้องหาแต่ละคนให้ถ้อยคำไว้อย่างตรงไปตรงมา เพราะพนักงานสอบสวนบันทึกข้อเท็จจริงในส่วนของคำให้การของจำเลยทั้งสี่เกี่ยวกับเหตุการณ์การกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่ทุกขั้นทุกตอนแทบจะตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยทั้งสี่ต่างให้ถ้อยคำว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นผู้เสียหายถือกระเป๋าหิ้วสีน้ำตาลคล้ายของจำเลยที่ 1 จึงถามผู้เสียหายด้วยถ้อยคำอย่างเดียวกันว่า “ลุง ๆ ขอดูกระเป๋าหน่อย เอาโทรศัพท์ของผมไปหรือเปล่า” ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจำเลยแต่ละคนจะให้ถ้อยคำเกี่ยวกับคำถามของจำเลยที่ 1 ต่อผู้เสียหายด้วยถ้อยคำที่ตรงกันทุกถ้อยคำได้เช่นนั้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าการบันทึกปากคำพยานหรือผู้ต้องหาในคดีนี้ พนักงานสอบสวนมิได้บันทึกตามถ้อยคำที่พยานหรือผู้ต้องหาแต่ละคนให้ถ้อยคำตรงกับที่พยานหรือผู้ต้องหาแต่ละคนให้การ หากแต่มีเหตุน่าเชื่อว่า พนักงานสอบสวนเพียงแต่สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น หรือสอบปากคำพยานหรือผู้ต้องหาเพียงคนเดียว จากนั้นก็ใช้ข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นเป็นฐานข้อมูลในการจัดทำบันทึกคำให้การของพยานปากอื่น ๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ดังนั้น กรณีของผู้เสียหายที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน ไม่ตรงกับคำเบิกความในชั้นศาลนั้น อาจเป็นได้ว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำของดาบตำรวจเอกวัฒน์ตามบันทึกคำให้การ ก่อนแล้วนำข้อเท็จจริงที่ดาบตำรวจเอกวัฒน์ให้การเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ของกลางได้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มาเป็นฐานข้อมูลในการบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย เมื่อในชั้นพิจารณาคดีของศาลผู้เสียหายเบิกความปฏิเสธว่าได้ลงชื่อในบันทึกคำให้การ โดยมิได้อ่านข้อความก่อนเพราะง่วงนอนและเมาสุรา จึงมีเหตุผลที่รับฟังเชื่อถือได้ คำเบิกความของผู้เสียหายที่ว่าจำเลยทั้งสี่โยนกระเป๋าและสิ่งของคืนให้แก่ผู้เสียหาย จึงมีเหตุผลให้เชื่อถือได้ยิ่งกว่าที่พนักงานสอบสวนบันทึกปากคำของผู้เสียหายไว้ ความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นความผิดร้ายแรงมีอัตราโทษหนักจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท แต่ตามคำเบิกความของผู้เสียหายได้ความว่า เมื่อยื้อแย่งเอากระเป๋าทรัพย์สินและกระชากสร้อยคอขาดไปแล้ว จำเลยทั้งสี่หาได้หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุไม่แต่วิ่งไปที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสี่พักอาศัยห่างเพียงประมาณ 100 เมตร เป็นเหตุให้ผู้เสียหายวิ่งตามไปทันแต่ตามขึ้นตึกไปไม่ได้ เพราะจำเลยทั้งสี่ปิดล็อกประตูไว้ ซึ่งการกระทำในลักษณะเช่นนี้ จำเลยทั้งสี่ย่อมทราบว่าในที่สุดผู้เสียหายต้องร้องขอให้เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยทั้งสี่และยึดทรัพย์สินของกลางไปดำเนินคดีจนได้ เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ก่อนลงมือกระทำผิดต่อผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 ผู้เสียหายจำไม่ได้แน่นอนพูดว่า “ลุง ๆ เอากระเป๋าไปหรือเปล่า” แล้วจำเลยทั้งสี่จึงลงมือยื้อแย่งกระชากเอากระเป๋าที่ผู้เสียหายคล้องคอไป และจำเลยอีกคนหนึ่งกระชากสร้อยคอขาดติดมือไป แต่เมื่อผู้เสียหายวิ่งตามไปทันที่ตึกแถวห้องเช่าซึ่งอยู่ห่างประมาณ 100 เมตรผู้เสียหายวิ่งตามขึ้นตึกไปไม่ได้ เพราะจำเลยทั้งสี่ปิดประตูล็อกไว้ ครั้นผู้เสียหายตะโกนขอให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นมาช่วย และขอให้จำเลยทั้งสี่คืนสิ่งของให้ จำเลยทั้งสี่ก็โยนกระเป๋าและสิ่งของลงมาที่พื้นชั้นล่าง ผู้เสียหายตรวจดูปรากฏว่ามีสิ่งของอยู่ครบถ้วน พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุน่าเชื่อตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ว่า ในคืนเกิดเหตุหลังจากเข้านอนแล้ว ต่อมาเวลาประมาณ 3 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ตื่นนอนพบว่าทรัพย์หายจึงปลุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขึ้นมา ช่วยกันตรวจดูปรากฏว่ามีทรัพย์ของจำเลยแต่ละคนสูญหายไปด้วย จากนั้นจำเลยทั้งสี่ลงมาที่ชั้นล่างตรวจดูบริเวณตึกแถวและเดินไปบนถนนพระราม 2 พบผู้เสียหายเดินมาสะพายกระเป๋าสีน้ำตาลคล้ายกระเป๋าของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสี่จึงล้อมผู้เสียหายไว้ และช่วยกันประทุษร้ายแย่งเอากระเป๋าสะพายและสร้อยคอสแตนเลสจากผู้เสียหายวิ่งกลับไปที่ห้องพักเพื่อตรวจดูว่าเป็นทรัพย์ของพวกตนหรือไม่ เมื่อตรวจดูแล้วเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์ของพวกตนประกอบกับผู้เสียหายร้องตะโกนขอกระเป๋าคืนด้วย จึงรวบรวมทรัพย์ทั้งหมดใส่กระเป๋าคืนให้แก่ผู้เสียหายก่อนที่จะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการเอาไปโดยมีเจตนาเพื่อตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น จำเลยทั้งสี่มิได้เอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันจะเป็นการกระทำ “โดยทุจริต” ตามบทนิยามความหมายของคำว่า “โดยทุจริต” ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้องโจทก์ไปด้วยเมื่อผลแห่งการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในประเด็นแรกเป็นดังนี้ คดีก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า หากศาลฎีกาฟังว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ขอให้ปรานีลงโทษในสถานเบาหรือลดโทษอีกแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของเสียหายไป โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share