แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 ซึ่งใช้บังคับกับคดีนี้บัญญัติไว้ความว่า “ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ให้บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกได้” ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 8 จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไปสามรายการ รวมเป็นเงิน 45,000 บาท ไปแล้ว โจทก์ที่ 8 ย่อมไล่เบี้ยเอาแก่ ฉ. ผู้ขับรถโดยสารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ และย่อมไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ต้องร่วมกันรับผิดกับ ฉ. ได้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 5 ผู้เอาประกันภัยรถโดยสารไว้ต่อจำเลยที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิด จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ 8 ย่อมไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 4 ได้ด้วย
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
สำนวนแรก โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 179,687 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ร่วมกันชำระเงิน 228,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 144,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 1,248,338 บาท แก่โจทก์ที่ 4 และร่วมกันชำระเงิน 360,000 บาท แก่โจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด เฉลิมชัย – ณัฐพงษ์ ทัวร์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
สำนวนที่สอง โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 416,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด เฉลิมชัย – ณัฐพงษ์ ทัวร์ ที่ 1 นายฉลอง ที่ 2 และบริษัทนิคอน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 3 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
สำนวนที่สาม โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 239,674 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายอาจินต์ ที่ 1 และบริษัทนิคอน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ในการพิจารณาและพิพากษารวมกัน ศาลชั้นต้นเรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ เรียกนางสำเนียง โจทก์ที่ 1 และนายสำราญ โจทก์ที่ 2 สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ เรียกบริษัทเอราวัณประกันภัย จำกัด โจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 8 เรียกนายอาจินต์ จำเลยที่ 1 สำนวนแรกและสำนวนที่สองและจำเลยร่วมที่ 1 สำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 1 เรียกบริษัทเฉลิมชัยณัฐพงษ์เดินรถ จำกัด จำเลยที่ 2 สำนวนแรกและสำนวนที่สองและจำเลยที่ 3 สำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 2 เรียกบริษัทนิคอน (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 3 สำนวนแรก จำเลยร่วมที่ 3 สำนวนที่สองและจำเลยร่วมที่ 2 สำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 3 เรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด จำเลยที่ 4 สำนวนแรก จำเลยที่ 3 สำนวนที่สองและจำเลยที่ 4 สำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 4 เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด เฉลิมชัย – ณัฐพงษ์ ทัวร์ จำเลยร่วมสำนวนแรก จำเลยร่วมที่ 1 สำนวนที่สองและจำเลยที่ 1 สำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 5 และเรียกนายฉลอง จำเลยร่วมที่ 2 สำนวนที่สองและจำเลยที่ 2 สำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 7
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 106,687 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 180,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 100,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 458,338 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 และที่ 7 รวม 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องสำนวนที่สองวันที่ 6 ธันวาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 8 จำนวน 239,674 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องสำนวนที่สามวันที่ 1 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งแปด เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งแปดชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนแรก 10,000 บาท สำนวนที่สอง 5,000 บาท และสำนวนที่สาม 3,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกินกว่าที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 6 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ในสำนวนแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถกระบะหมายเลขทะเบียน บ – 8522 พระนครศรีอยุธยา ซึ่งโจทก์ที่ 1 เอาประกันภัยไว้ต่อโจทก์ที่ 8 ทั้งประเภทประกันภัยค้ำจุนและประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โจทก์ที่ 2 เป็นสามีของนางสังวรณ์ โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุตรของนางสังวรณ์กับโจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 6 และที่ 7 เป็นมารดาและบิดาของนายสำเริง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 30 – 0343 สระบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปแล่นร่วมกับจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งจึงมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยใช้แล่นรับส่งพนักงานของจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถโดยสารจากจำเลยที่ 5 ทั้งประเภทประกันภัยค้ำจุนและประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 5 และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ด้วย รถทั้งสองคันดังกล่าวเฉี่ยวชนกันที่สี่แยกบางนมโค ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นายเฉลิมไม่ทราบชื่อสกุลผู้ขับรถโดยสารหลบหนี โจทก์ที่ 1 ผู้ขับรถกระบะและโจทก์ที่ 4 ผู้โดยสารมากับรถกระบะ ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ที่ 6 ผู้โดยสารมากับรถกระบะได้รับอันตรายแก่กาย นางสังวรณ์ นายสำเริงและนายชูชาติ ผู้โดยสารมากับรถกระบะถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุอยู่ในระยะเวลาประกันภัยตามตารางกรมธรรม์ทั้งสี่ฉบับ
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 6 เป็นทั้งหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 5 และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ด้วยก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ก็ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 5 จึงมิได้เป็นนายจ้างของนายเฉลิม จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยแตกต่างจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ 4 ไม่ได้โต้แย้งโดยชัดแจ้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อแรกว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 หรือโจทก์ที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่หยุดรถก่อนเข้าสี่แยกที่เกิดเหตุเพื่อให้รถโดยสารที่นายเฉลิมขับแล่นผ่านสี่แยกไปก่อน โจทก์ที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อหรือมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วยนั้น เห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีโจทก์ที่ 1 และที่ 6 เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า โจทก์ที่ 1 ได้หยุดรถก่อนเข้าสี่แยกที่เกิดเหตุโดยตรวจสอบด้านขวาและซ้ายเห็นแสงไฟรถโดยสารอยู่ห่าง 150 เมตร จึงขับรถเข้าสี่แยกขณะที่ส่วนหัวของรถกระบะผ่านสี่แยกแล้ว แต่ส่วนท้ายรถกระบะยังอยู่ในสี่แยกจึงถูกรถโดยสารชนส่วนท้าย ตามภาพถ่ายและแผนที่สังเขป โดยจำเลยที่ 4 มิได้นำพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมาสืบหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังตามพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ว่า รถกระบะมาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุก่อนรถโดยสาร เมื่อโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบแล้วไม่มีรถอยู่ในสี่แยก จึงขับรถเข้าสี่แยก โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้หยุดรถกระบะเพื่อให้รถโดยสารผ่านไปก่อนดังที่อ้างมาในฎีกา แต่เมื่อนายเฉลิมขับรถโดยสารมาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุภายหลังรถกระบะและเห็นมีรถกระบะอยู่ในสี่แยก นายเฉลิมต้องหยุดรถเพื่อให้รถกระบะผ่านไปได้ด้วยความปลอดภัย แต่นายเฉลิมกลับขับรถเข้าสี่แยกมาจนเป็นเหตุให้ชนรถกระบะของโจทก์ที่ 1 เหตุรถชนกันจึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 หรือโจทก์ที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายเฉลิมดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อต่อไปซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ต้องนำเงิน 15,000 บาท ที่โจทก์ที่ 8 จ่ายแก่โจทก์ที่ 2 ในฐานะทายาทของนางสังวรณ์ สำหรับความเสียหายที่นางสังวรณ์เสียชีวิต เงิน 15,000 บาท ที่โจทก์ที่ 8 จ่ายแก่โจทก์ที่ 4 สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย และเงิน 15,000 บาท ที่โจทก์ที่ 8 จ่ายแก่โจทก์ที่ 6 ในฐานะทายาทของนายสำเริง สำหรับความเสียหายที่นายสำเริงเสียชีวิตซึ่งเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปหักออกจากความรับผิดของจำเลยที่ 4 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ต้องนำเงินสามจำนวนดังกล่าวไปหักออกด้วย ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า ตามตารางกรมธรรม์ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวกำหนดความรับผิดของโจทก์ที่ 8 และจำเลยที่ 4 ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัย ดังนี้ ตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โจทก์ที่ 8 รับผิดต่อผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยคนละ 50,000 บาท ต่อผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตคนละ 80,000 บาท เมื่อรวมกับความรับผิดตามตารางกรมธรรม์เข้าด้วยแล้ว โจทก์ที่ 8 รับผิดต่อผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยคนละ 100,000 บาท และต่อผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตคนละ 100,000 บาท เช่นกัน สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 4 เมื่อพิจารณาตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและตารางกรมธรรม์ ประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ 4 และอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 4 แล้ว ก็กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 4 เช่นเดียวกันกับความรับผิดของโจทก์ที่ 8 ดังกล่าว นั่นคือ จำเลยที่ 4 รับผิดต่อผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยคนละ 100,000 บาท และต่อผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตคนละ 100,000 บาท เช่นกัน ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติต่อไปว่า หลังเกิดเหตุ โจทก์ที่ 8 จ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่าที่นำมาฟ้อง โดยจ่ายตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ดังนี้ จ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ที่ 1 สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย 15,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ในฐานะทายาทของนางสังวรณ์สำหรับความเสียหายที่นางสังวรณ์เสียชีวิต 15,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย 15,000 บาท แก่โจทก์ที่ 6 สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย 13,474 บาท แก่โจทก์ที่ 6 ในฐานะทายาทของนายสำเริงสำหรับความเสียหายที่นายสำเริงเสียชีวิต 15,000 บาท แก่นางเอมอร สำหรับความเสียหายที่นายชูชาติเสียชีวิต 15,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้นอีก 65,000 บาท รวม 80,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ที่ 8 ยังได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินคือ รถกระบะ ตามตารางกรมธรรม์ เป็นค่าลากรถกระบะ 1,200 บาท และค่าซ่อมแซมรถกระบะ 85,000 บาท รวมแล้วโจทก์ที่ 8 จ่ายไปทั้งหมดเป็นเงิน 239,674 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งแปดดังนี้ โจทก์ที่ 1 ค่าเสียหายเกี่ยวกับรถกระบะ 50,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล 56,687 บาท รวม 106,687 บาท โจทก์ที่ 2 ค่าขาดไร้อุปการะ 100,000 บาท และค่าปลงศพนางสังวรณ์ 80,000 บาท รวม 180,000 บาท โจทก์ที่ 3 ค่าขาดไร้อุปการะ 100,000 บาท โจทก์ที่ 4 ค่าขาดไร้อุปการะ 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล 358,338 บาท รวม 458,338 บาท โจทก์ที่ 5 ค่าขาดไร้อุปการะ 100,000 บาท โจทก์ที่ 6 และที่ 7 กำหนดให้รวมกัน ค่าขาดไร้อุปการะ 120,000 บาท และค่าปลงศพนายสำเริง 80,000 บาท รวม 200,000 บาท และสำหรับโจทก์ที่ 8 กำหนดให้เต็มตามที่โจทก์ที่ 8 ฟ้อง จำนวน 239,674 บาท ค่าสินไหมทดแทนจำนวนและรายการอื่นนอกจากที่เป็นปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ไม่มีปัญหาให้วินิจฉัยในชั้นฎีกา คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะค่าเสียหายของโจทก์ที่ 8 สามรายการตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกาเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 ซึ่งใช้บังคับกับคดีนี้บัญญัติไว้ความว่า ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก… เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนไปแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าใด ให้บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 8 จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไปสามรายการตามที่จำเลยที่ 4 ฎีการวมเป็นเงิน 45,000 บาท ไปแล้ว โจทก์ที่ 8 ย่อมไล่เบี้ยเอาแก่นายเฉลิมผู้ขับรถโดยสารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้และย่อมไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ต้องร่วมกันรับผิดกับนายเฉลิมได้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 5 ผู้เอาประกันภัยรถโดยสารไว้ต่อจำเลยที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิด จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ 8 ย่อมไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 4 ได้ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชำระเงินสามรายการตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกาแก่โจทก์ที่ 8 โดยต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดชำระเงินสามรายการตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกาแก่โจทก์ที่ 8 และเมื่อจำเลยที่ 4 รับผิดชำระเงินสามรายการนี้แก่โจทก์ที่ 8 แล้ว ก็ต้องนำไปหักออกจากจำนวนที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 หากไม่นำไปหักออกย่อมทำให้จำเลยที่ 4 ต้องชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามตารางกรมธรรม์ ซึ่งเมื่อนำไปคิดหักให้แล้วคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 จำนวน 85,000 บาท ต่อโจทก์ที่ 4 จำนวน 85,000 บาท ต่อโจทก์ที่ 6 และที่ 7 จำนวน 85,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้นำไปหักให้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้น จำต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้ และเนื่องจากมีคู่ความฝ่ายละหลายคน เพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดีเห็นสมควรพิพากษาเรียงลำดับเสียใหม่ให้ชัดเจน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 4 เฉพาะในส่วนของโจทก์ที่ 8 ซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง 239,674 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 5,992.50 บาท แต่จำเลยที่ 4 เสียมา 16,160 บาท เกินกว่าที่ต้องเสีย 10,167.50 บาท ต้องคืนส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยที่ 4
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 106,687 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 180,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 458,338 บาท และแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 และที่ 7 รวมกัน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และแก่โจทก์ที่ 8 จำนวน 239,674 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องชำระดังกล่าว ให้จำเลยที่ 4 ร่วมชำระในต้นเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 106,687 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 (ในฐานะทายาทนางสังวรณ์ ผู้เสียชีวิต) 85,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 85,000 บาท แก่โจทก์ที่ 6 และที่ 7 (ในฐานะทายาทนายสำเริง ผู้เสียชีวิต) 85,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 8 จำนวน 239,674 บาท ทั้งนี้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ร่วมรับผิดนับแต่วันที่ร่วมรับผิดในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 10,167.50 บาท แก่จำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ