คำวินิจฉัยที่ 113/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. จากนาง ก. ซึ่งออกทับที่ดินมือเปล่าที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยใช้หลักฐาน น.ส. ๓ ก. ที่ออกทับซ้อนที่ดินของโจทก์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน แต่เจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบ และมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง ขอให้พิพากษาให้ที่ดินมือเปล่าเป็นของโจทก์ และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้างจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เกิน ๑ ปี คดีจึงขาดอายุความ ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินที่ออกโฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ทั้งศาลจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองใครมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๓/๒๕๕๗

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเดชอุดม
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเดชอุดมโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๖ นางบุญเกิด ผาสิน โจทก์ ยื่นฟ้องนายโรจนศักดิ์ คำภูมี ที่ ๑ นายภัทรพงษ์ วรรณสุข ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเดชอุดม เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๒๘/๒๕๕๖ หมายเลขแดงที่ ๑๔๘๕/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่า เนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเรือง อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส. ๓ เล่ม ๔๑ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งโจทก์ครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา ต่อมาปี ๒๕๔๖ ที่ดินตาม น.ส. ๓ เล่ม ๔๑ ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๘๖๖ ตำบลนาเรือง อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี น้อยกว่าเนื้อที่เดิม ๔ ไร่เศษ ทำให้ที่ดินเนื้อที่ ๔ ไร่เศษเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ แต่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์โดยการทำนามาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปีแล้ว เมื่อปี ๒๕๕๔ จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๙๘ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จากนางคำดี ทระมาตย์ ซึ่งออกทับที่ดินเนื้อที่ ๔ ไร่เศษ ที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยใช้หลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๙๘ ที่ออกทับซ้อนที่ดินของโจทก์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ได้ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบ ตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง ขอให้พิพากษาให้ที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ ๔ ไร่เศษ เป็นของโจทก์ และให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน หรือเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ที่ออกโฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินพิพาทที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่นอกเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ฟ้องโจทก์เกิน ๑ ปี คดีจึงขาดอายุความ
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีมีประเด็นโต้แย้งเรื่องการออกโฉนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานที่ดิน คดีนี้จึงเป็นคดีปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเดชอุดมพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างอ้างว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่แท้จริง อันเข้าลักษณะตามบรรพ ๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่า ผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ สำหรับคดีนี้การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทต้องพิจารณาประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณี ซึ่งตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการขอออกโฉนดที่ดิน ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ คือ ศาลยุติธรรม ทั้งการพิจารณาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายกำหนดให้ต้องฟ้องต่อศาล เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใดให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการไปตามนั้น และแม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ออกโฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองด้วยก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ทั้งศาลจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองใครมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องและคำขอในคดีนี้โจทก์ประสงค์จะฟ้องว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ที่สั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้กับจำเลยทั้งสอง เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ที่สั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้กับจำเลยทั้งสอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการด้วยการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และถึงแม้จะเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเอกชนก็ตาม ศาลก็มีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีได้ สำหรับประเด็นปัญหาว่าที่ดินเปล่าเนื้อที่ ๔ ไร่เศษ เป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าการออกคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การจะพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือของจำเลยทั้งสอง ศาลจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงสามารถนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๙๘ จากนางคำดี ทระมาตย์ ซึ่งออกทับที่ดินมือเปล่า เนื้อที่ ๔ ไร่เศษ ที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยใช้หลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๙๘ ที่ออกทับซ้อนที่ดินของโจทก์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ได้ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบ และมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง ขอให้พิพากษาให้ที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ ๔ ไร่เศษ เป็นของโจทก์ และให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน หรือเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ที่ออกโฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินพิพาทที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่นอกเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ฟ้องโจทก์เกิน ๑ ปี คดีจึงขาดอายุความ ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดิน ที่ออกโฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ทั้งศาลจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองใครมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางบุญเกิด ผาสิน โจทก์ นายโรจนศักดิ์ คำภูมี ที่ ๑ นายภัทรพงษ์ วรรณสุข ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share