คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9532/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ แล้ว
ประกันภัยค้ำจุนคือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยและผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการบรรยายฟ้องเพื่อให้เห็นถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ไปทำละเมิดต่อโจทก์ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้เอาประกันภัยอันเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น และการบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานี้ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร คำฟ้องโจทก์จึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
การระบุชื่อผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ เป็นรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งแต่ละแบบจะมีผลแตกต่างกันในเรื่องความเสี่ยงภัยของผู้รับประกันภัยและการได้รับความคุ้มครองในความเสียหายส่วนแรก อันเป็นผลถึงจำนวนเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้เอาประกันภัยด้วย และแม้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นชนิดไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็จะต้องร่วมรับผิดเฉพาะกรณีผู้ขับขี่นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น มิใช่ผู้ใดเป็นผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายทุกกรณีดังที่โจทก์อ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 269,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ตุลาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เคลือบคลุมหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถแท็กซี่ที่เกิดเหตุในความรับผิดที่เกิดขึ้นจากผู้ครอบครองควบคุมดูแล และหรือผู้ขับขี่ โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายต่างๆ ให้แก่บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัยเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณานั้น เห็นว่า ประกันภัยค้ำจุนคือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่า จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยและผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไรอันจะเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการบรรยายฟ้องเพื่อให้เห็นถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ไปทำละเมิดต่อโจทก์ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้เอาประกันภัยอันเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น เพราะจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้นและการบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานี้ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นชนิดไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้ขับรถก็ตามนั้น ก็เห็นว่า การระบุชื่อผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ เป็นรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งแต่ละแบบจะมีผลแตกต่างกันในเรื่องความเสี่ยงของผู้รับประกันภัยและการได้รับความคุ้มครองในความเสียหายส่วนแรกอันเป็นผลถึงจำนวนเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้เอาประกันภัยด้วยและแม้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นชนิดไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็จะต้องร่วมรับผิดเฉพาะกรณีผู้ขับขี่นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น มิใช่ผู้ใดเป็นผู้ขับขี่ผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายทุกกรณีดังที่โจทก์อ้าง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุมและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share