คำวินิจฉัยที่ 19/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

เอกชนเป็นเจ้าของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่าอาคารตั้งอยู่บนทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ์และมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้จะอาศัยครอบครองมานานกว่ายี่สิบปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับรัฐ ทะเบียนบ้านเป็นเอกสารตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ มิใช่หลักฐานที่ให้กรรมสิทธิ์ในบ้านที่ขอเลขที่แต่อย่างใด เห็นว่า แม้คดีเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๕๗

วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดลำปาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ นายสมชาย ดังควัฒนา ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง นายกเทศมนตรีนครลำปาง ที่ ๑ นายอำเภอเมืองลำปาง ที่ ๒ เทศบาลนครลำปาง ที่ ๓ กรมการปกครอง ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๐๘/๒๕๕๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีซื้ออาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเลขที่ ๑ (เดิมเลขที่ ๒๖๕) ถนนวัดม่อนจำศีล ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มาจากนางปฐมาภรณ์ รินมุกดา หรือสุวรรณนคร ซึ่งก่อสร้างและอาศัยมาก่อนปี ๒๕๑๔ โดยสำนักทะเบียนอำเภอเมืองลำปางได้ออกเลขที่บ้านพร้อมทะเบียนบ้านของอาคารพิพาทให้ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๕ ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การปกครองของเทศบาลเมืองลำปางและเปลี่ยนเลขที่อาคารที่พิพาท จากเลขที่ ๒๖๕ เป็นเลขที่ ๑ ในปี ๒๕๕๕ ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านเข้าในอาคารพิพาทและเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ก็ไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด สภาพที่ตั้งของอาคารเป็นชุมชนไม่มีสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งตามหนังสือลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ แจ้งว่าอาคารของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่บนถนนวัดม่อนจำศีลซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐที่ตนมิได้มีสิทธิครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากผู้ฟ้องคดียังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ และแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเพื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบการบริการและดูแลที่สาธารณะ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการปกป้องรักษาที่สาธารณประโยชน์กลับไม่ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด กลับปล่อยให้มีการออกเลขที่บ้านของอาคารพิพาท จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเชื่อโดยสุจริตว่าอาคารที่พิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินซึ่งมิใช่ทางสาธารณประโยชน์ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำละเมิด ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งของผู้ฟ้องคดีที่ ๓ หากต้องทำการรื้อถอนอาคารพิพาทให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย
คดีนี้ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ กำหนดให้เทศบาลนครลำปางเป็นผู้ถูกฟ้องที่ ๓ และกรมการปกครองเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปางตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ์และมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือซื้อที่ดินโดยไม่ตรวจสอบหลักฐานการแสดงกรรมสิทธิ์ที่มาของที่ดิน แม้จะอาศัยครอบครองมานานกว่ายี่สิบปีและปัจจุบันไม่มีสภาพเป็นทางสาธารณะแล้วก็ตาม แต่ทางราชการยังไม่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินตามมาตรา ๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่พิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ผู้ฟ้องคดีจะเข้าไปยึดถือครอบครองโดยสุจริตเป็นเวลานานก็ไม่อาจใช้ต่อสู้กับรัฐและยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินได้ ทะเบียนบ้านเป็นเอกสารตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ มุ่งหมายจะทราบถึงความเคลื่อนไหวของผู้อยู่อาศัย การเกิด การตาย การย้ายที่อยู่ มิใช่หลักฐานที่ให้กรรมสิทธิ์ในบ้านที่ขอเลขที่แต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน การไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐที่ตนไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ (๒) (๒๗) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ (๒) มาตรา ๕๖ (๑) แห่งพะราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ประกอบข้อ ๕ และ ๖ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทำการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างบนทางสาธารณประโยชน์ทั้งหมด พร้อมทั้งให้ออกจากพื้นที่พิพาทภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อพิพาทคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่มีมูลเหตุมาจากการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จะโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีหลังจากที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาแล้ว และเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นที่ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดลำปางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นหน่วยงานปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของอาคารพิพาท ซื้อจากเจ้าของอาคารเดิมซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี และเข้าอาศัยแล้วจึงแจ้งย้ายทะเบียนบ้านเป็นเจ้าบ้านในอาคารพิพาท บริเวณที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารพิพาทเป็นชุมชน ไม่มีสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารพิพาท อ้างว่าตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และหากมีการรื้อถอนให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่าอาคารพิพาทของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่มีอำนาจตามกฎหมายที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารพิพาทได้ ดังนี้ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า อาคารพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งมีสิทธิครอบครองหรือปลูกอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า เป็นเจ้าของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเลขที่ ๑ ถนนวัดม่อนจำศีล ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง และเชื่อโดยสุจริตว่าอาคารพิพาทปลูกสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนการออกเลขที่บ้านและทะเบียนบ้าน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่าอาคารของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่บนถนนวัดม่อนจำศีลซึ่งเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งยกอุทธรณ์และแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเพื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายขอให้ศาลยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งของเทศบาลนครลำปาง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปางตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ์และมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้จะอาศัยครอบครองมานานกว่ายี่สิบปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับรัฐ ทะเบียนบ้านเป็นเอกสารตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ มิใช่หลักฐานที่ให้กรรมสิทธิ์ในบ้านที่ขอเลขที่แต่อย่างใด ขอให้ศาลยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสมชาย ดังควัฒนา ผู้ฟ้องคดี นายกเทศมนตรีนครลำปาง ที่ ๑ นายอำเภอเมืองลำปาง ที่ ๒ เทศบาลนครลำปาง ที่ ๓ กรมการปกครอง ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share