คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6998/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยการไล่ออกเนื่องจากโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่เรียกเงินจากลูกหนี้ของจำเลยที่มาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่าได้รับเงินจากลูกหนี้ของจำเลยจริงแต่เป็นเงินที่ลูกหนี้ประสงค์จะให้นำไปทำบุญโดยโจทก์นำไปทำบุญแล้ว โจทก์ไม่เคยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นปฏิเสธต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลย เพิ่งยกขึ้นอ้างขณะเบิกความในคดีดังกล่าว เมื่อศาลสืบพยานในคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วโจทก์กลับยื่นใบลาออกก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยเนื่องจากเห็นว่าเมื่อโจทก์ลาออกแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะพิจารณาว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์ไม่ลาออกศาลต้องพิจารณาว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์กระทำผิดศาลก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยลงโทษไล่โจทก์ออกได้ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกเนื่องจากเห็นว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาและโจทก์มิได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบของจำเลย แสดงให้เห็นว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าศาลอาจจะอนุญาตให้จำเลยลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกหรือเลิกจ้าง โจทก์จึงชิงลาออกเสียก่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาในการขอลงโทษกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออก เนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตมาขอเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการลาออกและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 303,032 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ กับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย 171,955 บาท และค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องอีกเดือนละ 24,565 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 230/2551 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยการไล่ออกเนื่องจากโจทก์กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่เรียกเงินจากลูกหนี้ของจำเลยที่มาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 6715/2550 โจทก์ยื่นคำคัดค้านโดยโจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่าได้รับเงินจากลูกหนี้ของจำเลยจริง แต่เป็นเงินที่ลูกหนี้ประสงค์จะให้นำไปทำบุญโดยโจทก์นำไปทำบุญแล้ว ซึ่งโจทก์ไม่เคยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นปฏิเสธตั้งแต่ในชั้นที่โจทก์ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลย เพิ่งยกขึ้นมาอ้างขณะเบิกความต่อศาลในคดีดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานกลางสืบพยานทั้งสองฝ่ายในคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษา โจทก์กลับยื่นใบลาออกก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา หากโจทก์ไม่ลาออกศาลแรงงานกลางก็ต้องพิจารณาว่าโจทก์กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์กระทำผิดศาลแรงงานกลางก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยลงโทษไล่โจทก์ออกได้ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกเนื่องจากเห็นว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาและโจทก์มิได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามระเบียบของจำเลย อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าศาลแรงงานกลางอาจจะอนุญาตให้จำเลยลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกหรือเลิกจ้าง โจทก์จึงชิงลาออกเสียก่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาในการขอลงโทษกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการลาออกของโจทก์ เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออกเนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกเพราะเหตุทุจริต ย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตมาขอเพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกของจำเลยเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการลาออกและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการที่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกหลังจากที่โจทก์ลาออกแล้วชอบหรือไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและจำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share