แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์เดิมโอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่กับจำเลยทั้งสี่ให้แก่บริษัทสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เป็นการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักประกันเพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดำเนินการบริหารจัดการหนี้ อันเป็นเรื่องการบริหารสินทรัพย์ตามความในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 การโอนสิทธิในการบริหารจัดการหนี้มิใช่เป็นเรื่องการโอนกิจการของธนาคารพาณิชย์ตามความในมาตรา 38 ตรี แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 จึงไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 จัตวา การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์เดิมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จึงเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งโจทก์เดิมสามารถกระทำได้ และเมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องก็มีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์ตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,063,644.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี จากต้นเงิน 9,261,523.94 บาท หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 3,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 700,000 บาท และ 1,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จ แก่โจทก์ ตามลำดับ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดในเบี้ยประกันภัย 1,832.55 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ผู้ร้อง ยื่นคำขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีนี้ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านการสวมสิทธิ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำคัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เดิมเป็นนิติบุคคลประเภทธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสี่ตามคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่กับจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักประกันให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้โอนสิทธิมีอยู่กับจำเลยทั้งสี่ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ผู้ร้อง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิ และผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์เดิมเป็นธนาคารพาณิชย์ การโอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่กับจำเลยทั้งสี่ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ถือเป็นการโอนกิจการของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่ธนาคารพาณิชย์อื่นหรือสถาบันการเงิน เมื่อไม่ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 ตรี และ 38 จัตวา จึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า การที่โจทก์เดิมโอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่กับจำเลยทั้งสี่ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เป็นการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักประกันเพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดำเนินการบริหารจัดการหนี้ อันเป็นเรื่องการบริหารสินทรัพย์ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 การโอนสิทธิในการบริหารจัดการหนี้มิใช่เรื่องการโอนกิจการของธนาคารพาณิชย์ตามความในมาตรา 38 ตรี แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 จึงไม่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 จัตวา การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวระหว่างโจทก์เดิมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จึงเป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งโจทก์เดิมสามารถกระทำได้ และเมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ