คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13974/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ทรัพย์สินรายการที่ 2 และที่ 3 ที่ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งริบ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะเคยมีคำสั่งให้ตรวจสอบตามคำสั่งที่ 1036/2546 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นการตรวจสอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1255/2547 ของศาลชั้นต้น รวมทั้งมีบันทึกของเจ้าพนักงานตำรวจ เรื่องการตรวจยึดทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 ว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจยึดทรัพย์สินทั้งสองรายการไว้แล้วก็ตาม แต่บันทึกการตรวจยึดทรัพย์สินของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งยึดทรัพย์ของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา 22 จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการดังกล่าวได้มีคำสั่งยึดทรัพย์ทั้งสองรายการไว้แล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1255/2547 แต่เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้มีคำสั่งที่ 346/2549 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2549 ให้ยึดทรัพย์ทั้งสองรายการไว้ในคดีที่ผู้คัดค้านทั้งสองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดครั้งใหม่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547 จนผู้คัดค้านทั้งสองถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ที่ให้การรับสารภาพเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1975/2547 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 แต่สำหรับผู้คัดค้านที่ 2 ที่ให้การปฏิเสธได้ถูกแยกฟ้องเป็นคดีใหม่ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 4053/2547 ระยะเวลา 1 ปี ในกรณีของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2547 และในกรณีของผู้คัดค้านที่ 2 เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1975/2547 มีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ริบทรัพย์สินในส่วนที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 คงมีอำนาจร้องขอให้ริบทรัพย์สินในส่วนที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 2

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ธรต กรุงเทพมหานคร 467 รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน ลฮ 4652 กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 19974 เลขที่ดิน 100 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 46 ตารางวา ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 19, 20, 21, 22, 23, 27, 28, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ธรต กรุงเทพมหานคร 467 รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน ลฮ 4652 กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 19974 เลขที่ดิน 100 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาประการแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอให้ริบทรัพย์ของผู้คัดค้านทั้งสองหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์รายการที่ 2 และที่ 3 เกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1255/2547 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2547 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง และทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น โดยจะยื่นคำร้องไปพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จะยื่นคำร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้ เว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง” และมาตรา 22 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ถ้าผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณ ให้คณะกรรมการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัดหรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ต้องหานั้น” ดังนั้น แม้ทรัพย์สินทั้งสองรายการนี้ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะเคยมีคำสั่งให้ตรวจสอบตามคำสั่งที่ 1036/2546 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นการตรวจสอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1255/2547 ของศาลชั้นต้น รวมทั้งมีบันทึกของเจ้าพนักงานตำรวจ เรื่องการตรวจยึดทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 ว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจยึดทรัพย์สินทั้งสามรายการไว้แล้วก็ตาม แต่บันทึกการตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งยึดทรัพย์ของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา 22 เหตุนี้จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้มีคำสั่งยึดทรัพย์ทั้งสองรายการไว้แล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1255/2547 แต่เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้มีคำสั่งที่ 346/2549 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2549 ให้ยึดทรัพย์ทั้งสองรายการไว้ในคดีที่ผู้คัดค้านทั้งสองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดครั้งใหม่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547 จนผู้คัดค้านทั้งสองถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ที่ให้การรับสารภาพเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1975/2547 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 แต่สำหรับผู้คัดค้านที่ 2 ที่ให้การปฏิเสธได้ถูกแยกฟ้องเป็นคดีใหม่ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 ในคดีหมายเลขแดงที่ 4053/2547 ระยะเวลา 1 ปี ในกรณีของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2547 และในกรณีของผู้คัดค้านที่ 2 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1975/2547 มีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ริบทรัพย์สินในส่วนที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 4053/2547 มีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 2 ผู้ร้องจึงยังมีอำนาจร้องขอให้ริบทรัพย์สินในส่วนที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ได้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังขึ้น ส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำร้องที่ขอให้ริบทรัพย์สินรายการที่ 2 และที่ 3 ในส่วนที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share