แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 6 อุทธรณ์ เมื่อจำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 6 ถอนอุทธรณ์เฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยที่ 6 เท่านั้น แล้วพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันต่อไป แต่ศาลอุทธรณ์กลับมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง, 83 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12 โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 อุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อนุญาตให้จำเลยที่ 6 ถอนอุทธรณ์ได้ จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ แจ้งให้โจทก์ทราบ
โจทก์ฎีกาคำสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 6 จะถอนอุทธรณ์ แต่อุทธรณ์ของโจทก์ยังคงอยู่ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ต่อไปนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 6 อุทธรณ์ เมื่อจำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 6 ถอนอุทธรณ์เฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยที่ 6 เท่านั้น แล้วพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันต่อไป แต่ศาลอุทธรณ์กลับมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) อย่างไรก็ตามศาลฎีกาได้ตรวจคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ที่ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 แล้ว ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีสำหรับจำเลยที่ 6 เปลี่ยนแปลง
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์