แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของผู้ตายที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันในประเทศไทย เงินจำนวน 2,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยทั้งหกรับไว้อันเนื่องมาจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่อยู่ในต่างประเทศนั้น มิใช่เงินที่จำเลยทั้งหกมีความรับผิดที่จะต้องชำระแก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่หนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่หากเป็นทรัพย์มรดกผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งหกและมีการแบ่งปันกันแล้วโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และ 1750 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่เจ้าหนี้กองมรดกจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนหรือหลังจากแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วก็ย่อมจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยทายาทคนอื่นได้ตามมาตรา 1738 วรรคสอง ดังนั้น การที่ธนาคาร ท. ธนาคาร ก. หรือเจ้าหนี้กองมรดกรายใดจะเรียกร้องให้ชำระหนี้เอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไว้หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกที่เรียกร้องแก่จำเลยทั้งหกคนใดหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ทายาทที่ได้รับแบ่งมรดกไปจะอ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้กองมรดกไม่ได้เท่านั้นและยังคงมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไปตามมาตรา 1601 และ 1738 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกรายใดไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกหรือทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกดังกล่าวไปตามมาตรา 1738 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ชดใช้เงินคนละ 18,601,241 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 17,240,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองมรดกของผู้ตาย ให้จำเลยที่ 4 ชดใช้เงิน 18,527,961 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 17,192,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองมรดกของผู้ตาย และให้จำเลยที่ 6 ชดใช้เงิน 18,515,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 17,204,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองมรดกของผู้ตาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ชำระเงินจำนวน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองมรดกของนายชวลิต ผู้ตาย ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองมรดกของผู้ตาย และให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินจำนวน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองมรดกของผู้ตาย ในกรณีที่จำเลยทั้งหกชำระเป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครที่ขายเงินดอลลาร์สหรัฐให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ แต่อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ต้องไม่เกิน 43.10 บาท สำหรับจำเลยที่ 4 ต้องไม่เกิน 42.98 บาท และสำหรับจำเลยที่ 6 ต้องไม่เกิน 43.01 บาท กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 120,000 บาท
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาอนุญาต จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งหกเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายผู้มีสิทธิรับมรดกของนายชวลิต ผู้ตาย จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มณฑลซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ขอให้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและยื่นคำร้องขอให้แบ่งเงินที่ฝากไว้ต่อสถาบันการเงินแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย อันเป็นทรัพย์มรดกจำนวน 2,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ซึ่งศาลสูงแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและให้แบ่งเงินแก่โจทก์และจำเลยทั้งหกคนละ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำเลยทั้งหกได้รับเงินมรดกดังกล่าวไปตามส่วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับเงินดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกให้คืนเงินที่ได้รับจากการแบ่งทรัพย์มรดกไปแล้วแก่โจทก์หรือกองมรดกหรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ฟ้องในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งหกซึ่งอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายเช่นกันคืนเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไปแก่กองมรดกของผู้ตาย คดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก ทั้งมิใช่คดีมรดกที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ตน เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งหกต่างเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเช่นเดียวกัน ดังนั้น เงินจำนวน 2,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ ของผู้ตายที่ฝากไว้ที่สถาบันการเงินในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมเป็นมรดกของผู้ตายที่ตกทอดแก่ทายาทเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของผู้ตายที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันในประเทศไทย ซึ่งผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จะต้องจัดการตามที่จำเป็นเพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกก็ตาม แต่เงินจำนวน 2,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยทั้งหกรับไว้อันเนื่องมาจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่อยู่ในต่างประเทศนั้น มิใช่เงินที่จำเลยทั้งหกมีความรับผิดที่จะต้องชำระแก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่หนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 วรรคสอง แต่หากเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งหกและมีการแบ่งปันกันแล้วโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และ 1750 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่เจ้าหนี้กองมรดกจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนหรือหลังจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วก็ย่อมจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากทายาทอื่นได้ ตามมาตรา 1738 วรรคสอง ดังนั้น การที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือเจ้าหนี้กองมรดกรายใดจะเรียกร้องให้ชำระหนี้เอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไว้หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกที่จะเรียกร้องแก่จำเลยทั้งหกคนใดหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ทายาทที่ได้รับแบ่งมรดกไปจะอ้างการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้กองมรดกไม่ได้เท่านั้น และยังคงมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ตามมาตรา 1601 และ 1738 วรรคสอง ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ก็นำสืบยอมรับในสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกว่า เงินที่ได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกแล้วมีการตกลงกันให้เก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้ของกองมรดกก่อน ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกรายใดไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกหรือทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกดังกล่าวไปตามมาตรา 1738 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ