แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35/3 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อเข้าเหตุในหลายกรณี มิใช่เป็นบทกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของบุคคลในการถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไปแล้วด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังที่ได้บัญญัติไว้ทำให้ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการได้อีกต่อไป จึงขอให้บังคับห้ามมิให้จำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ฟ้องโจทก์จึงมิเกี่ยวด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะนำมาใช้บังคับแก่คดี
อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 (1) ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ต้องดำเนินการด้วยมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ซึ่งหากจำเลยจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หรือข้อบังคับประการใด โจทก์และเจ้าของร่วมก็พึงต้องดำเนินการเพื่อให้มีการถอดถอนจำเลยทางมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่บุคคลใดจะมาใช้สิทธิทางศาลได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และเมื่อตามคำฟ้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขอให้บังคับห้ามมิให้จำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลส และห้ามมิให้จำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลส
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการ เพราะเหตุจำเลยไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งตามพระราชบัญญัติอาคารชุดพ.ศ.2522 บัญญัติให้ผู้จัดการพ้นจากตำแหน่งหลายกรณีตามมาตรา 35/3 (5) กรณีจึงต้องมีมติจากที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้ถอดถอนด้วยคะแนนเสียง ตามมาตรา 49 เช่นนี้ โจทก์แม้เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องศาล ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลสหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35/3 (5) กำหนดไว้เป็นสองกรณี กรณีแรก คือ ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ กรณีที่สอง คือ และหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างและที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติให้ถอดถอนตามมาตรา 49 ตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 หลายประการ เข้าเหตุในกรณีแรก ศาลจึงมีอำนาจสั่งหรือพิพากษาให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคลอาคารชุดนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35/3 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อเข้าเหตุในหลายกรณี มิใช่เป็นบทกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของบุคคลในการถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลสไปแล้วด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35/3 ทำให้ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการได้อีกต่อไป จึงขอให้บังคับห้ามมิให้จำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลส ฟ้องโจทก์จึงมิเกี่ยวด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะนำมาใช้บังคับแก่คดี ส่วนปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 (1) ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ต้องดำเนินการด้วยมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด โดยที่ไม่จำต้องแปลความอย่างใด ๆ อีก ซึ่งหากจำเลยจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 หรือข้อบังคับประการใด โจทก์และเจ้าของร่วมก็พึงต้องดำเนินการเพื่อให้มีการถอดถอนจำเลยทางมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่บุคคลใดจะมาใช้สิทธิทางศาลได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลสและเมื่อตามคำฟ้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยได้พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขอให้บังคับห้ามมิให้จำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลสได้เช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยไม่รับฟ้องไว้พิจารณานั้นชอบแล้ว
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และ 167 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรมีคำสั่งถูกต้องเสียด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ