คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13107/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามตราจองอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดามารดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่ใส่ชื่อโจทก์ไว้แทน ต่อมาบิดามารดายกที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1 และเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่ากับจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง แต่กลับให้การต่อไปว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองจึงขัดกับคำให้การส่วนแรก เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวมาจึงไม่ถูกต้อง และแม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่มาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบิดามารดา จึงยังอยู่ในประเด็นข้อพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 319,833.33 บาทจำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย 505,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายอีกปีละ 38,000 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายอีกปีละ 60,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะกลับเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้ตามปกติสุข
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินตามตราจองเลขที่ 19 ตำบลไร่อ้อย อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ปีละ 24,000 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ปีละ 48,000 บาท นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า นายโตและนางย้วน มีบุตรรวม 6 คน คือนายวีระเดช โจทก์ นายไสว นางกนกหรือกนกวนา จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามตราจองเลขที่ 19 ตำบลไร่อ้อยอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื้อที่ 97 ไร่ เดิมมีชื่อคุณหญิงน้อม เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2512 คุณหญิงน้อมจดทะเบียนโอนให้นางสมบุญ น้าสาวนางย้วน และในวันเดียวกันนางสมบุญจดทะเบียนโอนให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2518 โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายโตเป็นผู้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแยกทำพินัยกรรม ตามหนังสือมอบอำนาจ ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 790/2538 ของศาลชั้นต้น ครั้นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2531 นายโตถึงแก่ความตาย และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2537 นางย้วนถึงแก่ความตาย นายโตและนางย้วนทำพินัยกรรมไว้ในฉบับเดียวกันตามสำเนาพินัยกรรมลงวันที่ 1 มกราคม 2520 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 790/2538 ของศาลชั้นต้น โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายโตและนางย้วนตามคำสั่งศาลจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ 18 ตารางวา โดยปลูกบ้านเลขที่ 23 อยู่บนที่ดินส่วนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2512 ส่วนจำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื้อที่ 60 ไร่ 38 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2514 รายละเอียดตามแผนที่พิพาท
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายโตและนางย้วน บิดามารดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และโจทก์ได้รับความเสียหายแค่ไหน เพียงใดเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ต้องฟังว่าที่ดินเป็นของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายโตและนางย้วนแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายโตและนางย้วนบิดามารดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่ใส่ชื่อโจทก์ไว้แทน ต่อมานายโตและนางย้วนยกที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1 และเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเท่ากับจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองกลับให้การต่อไปว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองจึงขัดกับคำให้การส่วนแรก เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ดังนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทมาจึงไม่ถูกต้อง และแม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่มาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่อย่างไรก็ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมาข้างต้นเข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนนายโตและนางย้วนเท่านั้น จึงยังอยู่ในประเด็นข้อพิพาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share