คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21502/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้อีก
จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัว และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 336 ทวิ, 362, 365, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 50,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางปัทมา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าทำรั้วกำแพงอิฐบล็อกและบานประตูเหล็ก เป็นเงิน 93,000 บาท ค่าเสียสุขภาพจิต เป็นเงิน 100,000 บาท ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นที่ดูหมิ่นเกลียดชังของผู้อื่น เป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 293,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 362 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 50,000 บาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมอีก 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับ 9,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ค่าเสียสุขภาพจิตและค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชังเป็นความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ได้อีก
มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเพียงว่า ค่าเสียสุขภาพจิตและค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชังเป็นความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 146361 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร บริเวณรั้วสังกะสี ซึ่งกั้นระหว่างที่ดินโฉนดดังกล่าวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 110214 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งตกเป็นทางจำเป็นของที่ดินโฉนดเลขที่ 146361 อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกนั้น เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เป็นต้น ดังนี้ ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ทำให้ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัวและค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชังอันเนื่องมาจากจำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม แต่ได้กระทำความผิดรื้อรั้วสังกะสีหลายครั้ง และโจทก์ร่วมแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยหลายคดี แต่จำเลยกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share