คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ทั้งสองจ่ายค่าจ้างให้ ส. กับพวกรวม 13 คน ต่อศาลแรงงานภาค 8 ในระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 น. และ จ. ซึ่งเป็น 2 ใน 13 คน ที่จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างให้แถลงต่อศาลแรงงานภาค 8 ว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างจากโจทก์ทั้งสองตามคำสั่งของจำเลยต่อไป แต่ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ได้วินิจฉัย และโจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์ในข้อนี้
ปัญหานี้เป็นเรื่องความรับผิดของโจทก์ทั้งสองที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในสำนวน จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 (พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยเฉพาะส่วนที่ให้โจทก์ทั้งสองจ่ายค่าจ้างให้ น. และ จ. นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8 )

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 13/2549 เรื่องค่าจ้าง ลงวันที่ 27 กันยายน 2549 ของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุรินทร์ กับพวกรวม 13 คน ร่วมกันปลูกสร้างบ้านให้โจทก์ทั้งสองแล้วเสร็จบางส่วน จากนั้นจึงไปร้องต่อจำเลยว่ายังไม่ได้รับค่าจ้างจากโจทก์ทั้งสอง จำเลยได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนายจ้าง จึงมีคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างแก่นายสุรินทร์กับพวกรวม 13 คน รวมเป็นเงิน 155,850 บาท แล้ววินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่าคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ว่า สัญญาจ้างทำของที่จัดทำขึ้นระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายสุรินทร์ไม่ปรากฏข้อสาระสำคัญในเรื่องวันเริ่มนับเวลาตามสัญญาและบทบังคับเรื่องค่าปรับหากผู้รับจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ทั้งไม่มีพยานลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาด้วย สัญญาดังกล่าวจึงมีข้อพิรุธว่า คู่สัญญามีเจตนาที่จะผูกผันกันตามสัญญาดังกล่าวจริงหรือไม่ จึงมีเหตุสมควรเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 นำแบบพิมพ์สัญญาจ้างทำของมาให้นายสุรินทร์ลงลายมือชื่อสมอ้างเป็นผู้รับจ้าง เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบยื่นคำขอกู้เงินจากธนาคารเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะคู่สัญญาตามสัญญาจ้างทำของ ทั้งเมื่อพิจารณาจากตารางลงเวลาทำงานปรากฏว่ามีการลงเวลาทำงานของนายสุรินทร์เป็นรายวัน หากนายสุรินทร์เป็นผู้รับเหมาก็ไม่มีเหตุที่จะต้องลงเวลาทำงานในแต่ละวัน นายสุรินทร์จึงเป็นเพียงลูกจ้างรายวันของโจทก์ทั้งสองเช่นเดียวกันกับพวกอีก 12 คน พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ทั้งสอง คดีจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นายสุรินทร์กับพวกรวม 13 คน ล้วนเป็นลูกจ้างของโจทก์ทั้งสอง คำสั่งของจำเลยจึงชอบแล้ว โจทก์ทั้งสองต้องปฏิบัติตาม ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลย
ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าสัญญาจ้างทำของ ตีความได้ว่าเป็นสัญญาจ้างทำของและเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา คู่สัญญามีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามสัญญาพึงอนุมานได้ว่าวันที่ทำสัญญากันคือวันที่เริ่มนับเวลาตามสัญญาและการไม่กำหนดค่าปรับกับการไม่มีพยานลงลายมือชื่อในสัญญา หาใช่ข้อสาระสำคัญและข้อพิรุธว่าไม่มีเจตนาผูกพันกันตามสัญญาแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งเจตนาของโจทก์ทั้งสองต้องการผูกนิติสัมพันธ์ในเรื่องจ้างทำของ ซึ่งนายสุรินทร์ก็เป็นคนจัดหาและควบคุมบังคับบัญชาสั่งงานคนงานทั้ง 12 คน เองทั้งสิ้น โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาคนงานแต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ได้เป็นสัญญาจ้างแรงงานที่จะทำให้จำเลยมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำสั่งได้ตามกฎหมาย คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองเป็นการยกข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนขึ้นอุทธรณ์และเพิ่มเติมข้อเท็จจริงในส่วนอำนาจบังคับบัญชาเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างเป็นสัญญาจ้างทำของมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน ตามที่ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงมาอุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายย่อมเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งของจำเลยเกินกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง โดยไม่มีการขอขยายเวลาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตามกฎหมาย คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย แต่ก็มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 8 เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาดังกล่าวในคำฟ้อง ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะไม่มีเหตุให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 นายนิคมและนายจริน แถลงไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าจ้างจากโจทก์ทั้งสองตามคำสั่งของจำเลยอีกต่อไป ซึ่งศาลแรงงานภาค 8 มิได้พิจารณาวินิจฉัย และโจทก์ทั้งสองมิได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องความรับผิดของโจทก์ทั้งสองที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในสำนวนความ จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 13/2549 ลงวันที่ 27 กันยายน 2549 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์ทั้งสองจ่ายค่าจ้างแก่นายนิคมและนายจริน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8

Share