แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บุกรุกเข้าไปขุดดินและรื้อถอนหลักเขตที่ดินบริเวณที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อก่อสร้างท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) โดยไม่ได้รับความยินยอม เมื่อผู้ฟ้องคดีนำรังวัดสอบเขตที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการรังวัดอ้างว่า คูน้ำเป็นคูน้ำสาธารณะ ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและปรับสภาพที่ดินให้คืนดังเดิม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หยุดคัดค้านการรังวัด หรือให้เจ้าพนักงานที่ดินปักหลักเขตที่ดินตามผลการรังวัด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ให้การว่า ที่พิพาทเป็นคูน้ำสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และได้ดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำและก่อสร้างตามแนวคูน้ำสาธารณะเดิมซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นคูน้ำสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕๒/๒๕๕๖
วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นางศศิประภา กนกงาม ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระเสียว ที่ ๑ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๕ ตำบลกระเสียว ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๑๔/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๐๒ ตำบลกระเสียว (โป่งแดง) อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๒ งาน ๗๗ ตารางวา โดยรับโอนมรดกมาจากยาย ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ซึ่งเดิมตากับยายของผู้ฟ้องคดีขุดคูเพื่อนำน้ำจากแม่น้ำท่าจีนมาใช้ในการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บุกรุกเข้าไปขุดดินและรื้อถอนหลักเขตที่ดิน บริเวณที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อก่อสร้างท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) โดยไม่ได้รับความยินยอม ไม่รับฟังคำคัดค้านและดำเนินการก่อสร้างต่อไป เมื่อผู้ฟ้องคดีนำเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาสามชุก รังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อปักหลักเขตที่ดินใหม่แทนหลักเขตเดิมที่ถูกรื้อถอน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการรังวัดอ้างว่าคูน้ำที่ตากับยายของผู้ฟ้องคดีขุดไว้เป็นคูน้ำสาธารณะ ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีและปรับสภาพที่ดินให้คืนดังเดิม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หยุดคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดิน หรือให้เจ้าพนักงานที่ดินปักหลักเขตที่ดินตามผลการรังวัดสอบเขตที่ดินให้มีเนื้อที่และรูปแผนที่ตรงตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๓๐๒ ของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทเดิมชาวบ้านได้ร่วมกันขุดคูดินที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อชักน้ำไปใช้ในการเกษตรของชาวบ้านประมาณ ๓๐ ราย เพื่อประโยชน์สาธารณะ และได้ใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาประมาณ ๔๐ ปี มิได้มีการหวงห้าม จึงเป็นคูน้ำสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ตามแผนพัฒนาสามปี (๒๕๕๔ – ๒๕๕๖) ซึ่งเป็นโครงการที่ที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกระเสียวได้อนุมัติโครงการแล้ว โดยผ่านการประชาคมของชาวบ้านตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำการก่อสร้างตามแนวคูสาธารณะเดิม ผู้ฟ้องคดีก็ไม่คัดค้าน ผู้ฟ้องคดีได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเมื่อปี ๒๕๓๔ หลังจากมีการขุดคูและชาวบ้านใช้เป็นคูน้ำสาธารณะซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ประเด็นหลักคู่กรณีโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองพิจารณาแล้วเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และทำการก่อสร้างท่อระบายน้ำ ค.ส.ล. ในที่พิพาท จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บุกรุกเข้าไปรื้อถอนหลักเขตที่ดินและก่อสร้างท่อระบายน้ำ ค.ส.ล. ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้อำนาจตามกฎหมายทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ก็ไม่ใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการวางท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยบุกรุกเข้าไปทำการก่อสร้างด้วยการขุดดินและรื้อเสาหลักเขตที่ดินในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ที่พิพาทเป็นคูน้ำสาธารณะ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อสิ่งก่อสร้างออกจากที่พิพาทและทำพื้นที่ให้เหมือนเดิม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกเลิกการคัดค้านการตรวจสอบและปักหลักเขตที่ดิน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า คูน้ำพิพาทเป็นคูน้ำที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาโดยมิได้มีการหวงห้ามเป็นการอุทิศให้โดยปริยาย จึงเป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการก่อสร้างตามแนวคูสาธารณะเดิม ดังนั้น ในคดีนี้คู่กรณียังโต้แย้งกันว่า การทำท่อระบายน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าจะบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างหรือไม่ จึงจะพิจารณาได้ว่าจะบังคับตามคำขอที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนสิ่งก่อสร้างและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกเลิกการคัดค้านการตรวจสอบและปักหลักเขตที่ดินได้หรือไม่ กรณีคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่คำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บุกรุกเข้าไปขุดดินและรื้อถอนหลักเขตที่ดินบริเวณที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อก่อสร้างท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) โดยไม่ได้รับความยินยอม ไม่รับฟังคำคัดค้านและดำเนินการก่อสร้างต่อไป เมื่อผู้ฟ้องคดี นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อปักหลักเขตที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการรังวัดอ้างว่า คูน้ำเป็นคูน้ำสาธารณะ ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและปรับสภาพที่ดินให้คืนดังเดิม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หยุดคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดิน หรือให้เจ้าพนักงานที่ดินปักหลักเขตที่ดินตามผลการรังวัดสอบเขตที่ดิน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทเป็นคูน้ำสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำและก่อสร้างตามแนวคูสาธารณะเดิม ซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นคูน้ำสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางศศิประภา กนกงาม ผู้ฟ้องคดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระเสียว ที่ ๑ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๕ ตำบลกระเสียว ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ