คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20601/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยยังมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่เพิ่มโทษ คงจำคุก 1 ปี การที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิ่มโทษเป็นไม่เพิ่มโทษนั้น ไม่เป็นการแก้บทความผิด จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
จำเลยฎีกาว่า การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาจำเลยว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 และมาตรา 266 แทนที่จะตั้งข้อหาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จนเป็นเหตุให้จำเลยถูกส่งตัวไปฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นเพราะพนักงานสอบสวนมีเจตนาจะควบคุมตัวจำเลยไว้ไม่ให้ได้รับการปล่อยชั่วคราว และที่ฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิยื่นพยานหลักฐานใหม่เข้ามาในคดีเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดได้ในระหว่างการพิจารณาทุกชั้นศาล ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ยอมรับพยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่ชอบ เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่การที่จำเลยอ้างว่า เอกสารจากสถานเอกอัครราชฑูตอุรุกวัยในประเทศจีนมิใช่พยานหลักฐานใหม่หลังจากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีจึงห้ามมิให้สอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยนั้น เอกสารดังกล่าวจะไม่เป็นพยานหลักฐานใหม่จริงตามที่จำเลยอ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 92, 33 ริบของกลางและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายจำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ให้จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลย คงให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอม จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยยังมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่เพิ่มโทษ คงจำคุก 1 ปี การที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิ่มโทษเป็นไม่เพิ่มโทษนั้น ไม่เป็นการแก้บทความผิด จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
จำเลยฎีกาว่า การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาจำเลยว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 266 แทนที่จะตั้งข้อหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จนเป็นเหตุให้จำเลยถูกส่งตัวไปฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นเพราะพนักงานสอบสวนมีเจตนาจะควบคุมตัวจำเลยไว้ไม่ให้ได้รับการปล่อยชั่วคราว และที่ฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิยื่นพยานหลักฐานใหม่เข้ามาในคดีเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดได้ในระหว่างการพิจารณาทุกชั้นศาล การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ยอมรับพยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่ชอบ เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า เอกสารจากสถานเอกอัครราชฑูตอุรุกวัยในประเทศจีนมิใช่พยานหลักฐานใหม่หลังจากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 จึงห้ามมิให้สอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่การที่จำเลยอ้างว่าเอกสารจากสถานเอกอัครราชฑูตอุรุกวัยในประเทศจีนมิใช่พยานหลักฐานใหม่หลังจากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น เอกสารดังกล่าวจะไม่เป็นพยานหลักฐานใหม่จริงตามที่จำเลยอ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหากฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share