คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12235/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 และมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งจังหวัดลพบุรีใหม่ มีผลทำให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2544 ก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ข้อ 1 ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 และมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นผลบังคับในวันดังกล่าวก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2544 ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกยกเลิก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งโดยไม่มีสิทธิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 และโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
เมื่อจำเลยเป็นผู้ขอให้โจทก์แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา และเลขานุการประธานวุฒิสภาประจำตัวจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่ได้มาระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งและเป็นประโยชน์แก่จำเลยเอง เงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่บุคคลที่จำเลยขอให้โจทก์แต่งตั้งจึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง จำเลยจึงต้องคืนแก่โจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,029,352.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 2,937,017.88 บาท แก่โจทก์ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,029,352.89 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 2,937,017.88 บาท นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,149,505.32 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2542 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2542 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 มีนาคม 2543 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรับรองว่าจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเขตเลือกตั้งจังหวัดลพบุรี ทำให้สมาชิกภาพในการเป็นสมาชิกวุฒิสภาของจำเลยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาชุดก่อน ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2543 จำเลยได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นประธานวุฒิสภา มีผลให้จำเลยดำรงตำแหน่งรองประธานรัฐสภาอีกตำแหน่งหนึ่ง ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาจำเลยขอให้โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวจำเลย 1 คน คือ นายปองปฐมพน ได้รับเงินค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 15,000 บาท และแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย 5 คน คือ นายโอวาท ซึ่งต่อมาได้แต่งตั้งนายสิทธิศักดิ์แทนนายสวัสดิ์ นายปิยะพันธุ์ นายสังคม และนายอฐิคมเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำด้านวิชาการ ช่วยดำเนินงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย โดยได้ค่าตอบแทนในอัตรา 7,780 บาท ต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ จำเลยได้แต่งตั้งที่ปรึกษารองประธานรัฐสภาประจำตัวจำเลย 1 คน คือ นายอภิพลได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดือนละ 63,800 บาท และจำเลยได้แต่งตั้งที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา 3 คน คือ นายประทักษ์ นายชวรัตน์ และนายประยุทธ ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 63,800 บาท ต่อคนต่อเดือน และจำเลยได้แต่งตั้งเลขานุการประธานวุฒิสภา 1 คน คือ นายโอวาท ได้ค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 42,400 ในวันที่ 13 มีนาคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเขตเลือกตั้งจังหวัดลพบุรี มีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของเขตเลือกตั้งจังหวัดลพบุรีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งจังหวัดลพบุรีใหม่แทนจำเลย มีผลทำให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งดังกล่าว ตามคำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 76/2544 ตั้งแต่จำเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา จนถึงวันที่สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลง จำเลยได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นเงิน 1,089,290.32 บาท ค่าใบเบิกทาง 56,895 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 3,320 บาท รวมเป็นเงิน 1,149,505.32 บาท นอกจากนี้โจทก์ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญให้จำเลย 144,677.42 บาท ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย 454,506.45 บาท เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และเลขานุการประธานวุฒิสภา ให้แก่จำเลยไปเป็นเงิน 1,187,328.69 บาท รวมเป็นเงิน 2,937,017.88 บาท
โดยในชั้นแรกสมควรหยิบยกปัญหาตามฎีกาของจำเลยก่อนในประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ข้อ 1 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง ทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นผลบังคับทันที โจทก์จึงไม่อาจถือเอาประโยชน์จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ที่สิ้นผลไปแล้วมาเรียกร้องเอากับจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 และมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งจังหวัดลพบุรีใหม่ มีผลทำให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2544 ก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นผลบังคับในวันเดียวกันนั้นก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่โจทก์ เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงเป็นต้นไป ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปแล้วได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากจำเลยที่ได้รับระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาโดยชอบ ไม่ใช่การใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2544 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 19 ตุลาคม 2549 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภามาโดยไม่ชอบ และขอให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งโดยไม่มีสิทธิได้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 อันเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเงินที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบ และโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องคืนเงินประจำตำแหน่งตามที่โจทก์ฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่จำต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาในระหว่างดำรงตำแหน่งเนื่องจากจำเลยได้ทำงานในฐานะข้าราชการการเมืองตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา ซึ่งโจทก์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการทำงานของจำเลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ เห็นควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปพร้อมกับฎีกาของโจทก์ที่ว่า เงินค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา และเลขานุการประธานวุฒิสภาเป็นค่าประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับเนื่องจากการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาที่ต้องคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 บัญญัติว่า “การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นรับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า จำเลยถูกออกจากตำแหน่งหรือสมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงเพราะเหตุที่จำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จำเลยจึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เมื่อจำเลยเป็นผู้ขอให้โจทก์แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา และเลขานุการประธานวุฒิสภาประจำตัวจำเลยซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่ได้มาระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งและเป็นประโยชน์แก่จำเลยเอง เงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่บุคคลที่จำเลยขอให้โจทก์แต่งตั้งจึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในประเด็นนี้มาว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินค่าตอบแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share