แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจับกุมจำเลยได้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่บ้านของจำเลยพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 700 เม็ด กับจำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนถึงเส้นทางในการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นต่อไปด้วยนั้นก็ตาม แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ส่วนที่จำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นมาดำเนินคดีโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2554)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ริบเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 2,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกจำเลย 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการกักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” ซึ่งศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ดังนั้น จึงต้องแปลความบทบัญญัติดังกล่าวโดยเคร่งครัด ซึ่งการที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงการให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ข้อเท็จจริงความว่า หลังจากจับกุมจำเลยได้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่บ้านของจำเลยพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 700 เม็ด แม้จะมีจำนวนค่อนข้างมากซึ่งหากแพร่ระบาดออกไปย่อมเป็นอันตรายต่อสังคมก็ตาม แต่ของกลางถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก การให้ข้อมูลของจำเลยจึงมิใช่เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การต่อพันตำรวจโทบุญยิ่ง ผู้จับกุมจำเลย และร้อยตำรวจโทดำรง พนักงานสอบสวนถึงเส้นทางในการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นต่อไปด้วยนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นมาดำเนินคดีโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน