แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การสืบพยานในคดีแรงงาน ศาลแรงงานเป็นผู้มีอำนาจซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเท่านั้น ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจในการซักถามพยานไม่ว่าเป็นการซักถามก่อนอนุญาตให้ตัวความหรือทนายความซักถาม หรือซักถามหลังจากที่พยานเบิกความตอบตัวความหรือทนายความซักถามแล้ว หรือจะซักถามทั้งก่อนและหลังการอนุญาตให้ทนายความหรือตัวความซักถามพยานก็เป็นอำนาจของศาลแรงงานกลางที่กระทำได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 23,193 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ค่าจ้างจำนวน 5,750 บาท และค่าชดเชยจำนวน 85,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างและค่าชดเชย นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายรางวัลกระเป๋าพร้อมเครื่องสำอางจำนวน 60 ใบ ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 14,083.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ชำระค่าชดเชยจำนวน 25,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ส่งมอบรางวัลกระเป๋าพร้อมเครื่องสำอางจำนวน 20 ใบ ให้แก่โจทก์ หากไม่ส่งมอบกระเป๋าพร้อมเครื่องสำอาง ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2548 อัตราค่าจ้างเดือนสุดท้าย 8,450 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการประจำเขต มีหน้าที่ติดต่อแต่งตั้งสาวจำหน่ายสินค้ามิสทีนเพื่อให้ไปจำหน่ายสินค้าของจำเลย โจทก์เขียนข้อความและลงลายมือชื่อลงในหนังสือขอลาออก และเขียนข้อความคำมั่นในการทำงานไว้ในหนังสือขอลาออกแผ่นแรกหน้าหลังของเอกสาร รวมทั้งลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มหนังสือขอลาออกซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความในแผ่นแรกหน้าแรกของเอกสาร โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มอบอำนาจให้บุคคลอื่นใดกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มดังกล่าวแทน จำเลยจ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์ถึงวันที่ 5 กันยายน 2548 หลังจากนั้นจำเลยไม่ต้องการให้โจทก์มาทำงานอีกต่อไป แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2548 โดยมีผลให้โจทก์ไม่ต้องมาทำงานตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2548 เป็นต้นไป ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลย ข้อ 3 ที่ว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์เขียนข้อความคำมั่นในการทำงานไว้ในแบบฟอร์มหนังสือขอลาออกเอกสารแผ่นแรกหน้าหลัง และลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มหนังสือขอลาออกซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความในแผ่นแรกหน้าแรก โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มอบอำนาจให้บุคคลอื่นใดกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มดังกล่าวแทน ข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ อันเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน กล่าวคือปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่ 20 มิถุนายน 2549 ที่โจทก์แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่า “ข้าพเจ้าเขียนข้อความทั้งหมดและลงลายมือชื่อลงในหนังสือขอลาออก และข้าพเจ้าลงลายมือชื่อในหนังสือขอลาออกแผ่นแรกหน้าแรก และในแผ่นแรกหน้าหลังข้าพเจ้าเขียนข้อความทั้งหมดด้วยตนเอง โดยคิดข้อความด้วยตนเอง” จากการที่โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือขอลาออกเอกสารแผ่นแรกหน้าแรกนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้อย่างชัดแจ้งว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือขอลาออกเอกสารแผ่นแรกหน้าแรก ไม่มีข้อความหรือข้อเท็จจริงใดๆ ที่จะทำให้แปลหรือฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารอื่น ๆ หรือโจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า หรือโจทก์ลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยตามหนังสือขอลาออกเอกสารแผ่นแรกจริง อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มหนังสือขอลาออกซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความในแผ่นแรกหน้าแรกในเอกสาร โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มอบอำนาจให้บุคคลอื่นใดกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มดังกล่าวแทน เท่ากับศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ลาออกตามหนังสือขอลาออก อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า สามารถรับฟังพยานเอกสารของโจทก์ได้หรือไม่ และการที่โจทก์เบิกความตอบคำถามศาลภายหลังจากที่โจทก์เบิกความไปแล้วชอบหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ข้อ 4 ว่า บัญชีระบุพยานของโจทก์ไม่ได้อ้างอิงเอกสารที่อ้างเป็นพยานแม้แต่เพียงฉบับเดียว และตามอุทธรณ์ข้อ 6 ว่า ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กล่าวคือการที่ศาลแรงงานกลางให้โจทก์เบิกความตอบคำถามศาลซ้ำหลังจากที่โจทก์เบิกความไปแล้วและอยู่ในชั้นที่ทนายจำเลยขออนุญาตถาม จึงไม่ชอบ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะได้ให้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร วรรคสอง บัญญัติว่า ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ดังนั้นเมื่อโจทก์นำพยานเอกสารเข้าสืบโดยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน และศาลแรงงานกลางยอมให้โจทก์นำสืบพยานเอกสารนั้นและรับไว้เป็นพยาน ถือเป็นพยานเอกสารที่ศาลแรงงานกลางเรียกมาสืบเพื่อความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดี อีกทั้งการสืบพยานในคดีแรงงาน ศาลแรงงานเป็นผู้มีอำนาจซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเท่านั้น ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจในการซักถามพยานไม่ว่าเป็นการซักถามก่อนอนุญาตให้ตัวความหรือทนายความซักถาม หรือซักถามหลังจากที่พยานเบิกความตอบตัวความหรือทนายความซักถามแล้ว หรือจะซักถามทั้งก่อนและหลังการอนุญาตให้ทนายความหรือตัวความซักถามพยาน ก็เป็นอำนาจของศาลแรงงานกลางที่กระทำได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางตามที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 4 และข้อ 6 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน