คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารสำคัญประจำตัวเด็กชาย ว. ทั้งตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 กับทะเบียนนักเรียนและหนังสือรับรองของโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา ล้วนระบุว่าเด็กชาย ว.เป็นบุตรของผู้ตาย เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ตายได้มอบหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายประกอบการขอออกสูติบัตรของเด็กชาย ว. พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ระบุชื่อผู้ตายเป็นบิดา อันเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลแล้วนั่นเอง แม้ไม่มีหนังสือยินยอมแยกต่างหากก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ตายที่เลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 1 กับเด็กชาย ว.และยินยอมให้เด็กชาย ว. ใช้ชื่อสกุลของผู้ตายอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของผู้ตายก็ปรากฏชัดตามสูติบัตรอันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ทั้งในการแจ้งเกิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีเอกสารประกอบคำขอทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ตายกับหนังสือยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายรับว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของตนและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลด้วยความเต็มใจและอย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่รับรองว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. เป็นบุตรผู้ตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชาย ว. เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
หลังจากผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 จดทะเบียนหย่า ผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงอยู่กินกันฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกันอีก 6 คน โดยผู้คัดค้านที่ 8 ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องนั้น ย่อมเป็นข้อสนับสนุนว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 มิได้ถือเอาทะเบียนสมรสเป็นสาระสำคัญของความผูกพันเป็นสามีภริยากัน ทั้งความสัมพันธ์ของบุคคลในการอยู่กินกันและทำมาหาได้ร่วมกันซึ่งทรัพย์สินนั้น หาใช่ว่าบุคคลทั้งสองจะต้องอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันตลอดเวลาและต้องกระทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันในทุกเรื่องทุกราวเสมอไป แม้หากฝ่ายหนึ่งต้องออกไปทำงานนอกบ้านแสวงหาทรัพย์สินเพื่อสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้แก่ครอบครัวตามความรู้ความสามารถ ส่วนอีกฝ่ายเพียงทำหน้าที่คอยดูแลบ้านให้มีระเบียบเรียบร้อยและเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่บกพร่อง รวมทั้งการให้คำปรึกษาหารือ ส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจเป็นห่วงเป็นใยและแบ่งปันความทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกันและช่วยกันทำมาหาได้ซึ่งทรัพย์สินแล้ว ภายหลังผู้คัดค้านที่ 4 ให้กำเนิดผู้คัดค้านที่ 8 ทั้งผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ต่างมิได้มีคู่สมรสใหม่ หากแต่ยังคงร่วมกันเลี้ยงดูบุตรทั้ง 7 คน อย่างไม่มีข้อบกพร่องตลอดมา ย่อมบ่งชี้ว่าผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยาเช่นเดิม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 อยู่กินกับผู้ตายจนถึงวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องและแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เพียงผู้เดียวหรือร่วมกับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องและแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 ร่วมกับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 4 แต่ผู้เดียวหรือร่วมกับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 5 แต่ผู้เดียวหรือร่วมกับผู้ร้องหรือร่วมกับผู้คัดค้านที่ 3 หรือที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นผู้จัดการมรดกของมรดกของผู้ตายหรือร่วมกับผู้ร้องหรือร่วมกับผู้คัดค้านที่ 3 หรือที่ 4 หรือที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำร้องขอถอนคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ ที่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกาว่าเด็กชายวัชริศ เด็กหญิงมุกดาและเด็กหญิงฐิติรัตน์ไม่ใช่บุตรของผู้ตายและผู้ตายไม่ได้รับรองว่าเป็นบุตรนั้น ผู้คัดค้านที่1 มีผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2535 ในปี 2536 ผู้คัดค้านที่ 1 ตั้งครรภ์ ผู้ตายจึงให้ผู้คัดค้านที่ 1 ลาออกจากราชการ ผู้ตายให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน สร้างบ้านและซื้อรถยนต์ให้ ผู้คัดค้านที่ 1 เคยไปพักกับผู้ตายที่ห้องส่วนตัวของผู้ตายที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา เป็นประจำ พนักงานของโรงแรมทราบดีว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของผู้ตาย และมีนาวาเอกนฤพล นาวาโทหญิงทิพย์วัลย์ เรือเอกหญิงสมหมาย นายอนุ และนางราวัลย์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานทั้งห้ารู้เห็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 1 ว่า เป็นสามีภริยากันและเด็กชายวัชริศเป็นบุตรของผู้ตาย เห็นว่า ความสัมพันธ์ของบุคคลซึ่งเป็นสามีภริยากันมิใช่เป็นเรื่องที่บุคคลใดจะสามารถนำมากล่าวอ้างและปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมาได้เองโดยง่าย แม้นาวาเอกนฤพล นาวาโทหญิงทิพย์วัลย์ เรือเอกหญิงสมหมาย นายอนุ และนางราวัลย์จะรู้จักสนิทสนมกับผู้คัดค้านที่ 1 ก็มิใช่เป็นข้อพิรุธเพราะเรื่องเช่นนี้ย่อมเป็นที่รับรู้ได้ดีในกลุ่มคนที่รู้จักหรือใกล้ชิดกัน เด็กชายวัชริศก็เบิกความถึงเหตุการณ์เท่าที่พยานจะสามารถรับรู้ได้ว่า ผู้ตายเป็นบิดาและเคยเลี้ยงดูพยาน กับได้ความจากผู้คัดค้านที่ 1 ว่า หลังจากผู้ตายประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ในวันรุ่งขึ้นผู้ร้องเป็นคนบอกให้พนักงานของโรงแรมติดต่อแจ้งข่าวให้ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบและนายภูษิต ทนายความประจำโรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา ของผู้ตายซึ่งเป็นทนายความของผู้ร้องด้วย เป็นคนโทรศัพท์บอกผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้ร้องบอกให้ผู้คัดค้านที่ 1 ไปร่วมงานศพด้วย เมื่อเข้าไปในงานนายภูษิตก็พาผู้คัดค้านที่ 1 ไปแนะนำตัวกับผู้คัดค้านที่ 3 ว่า เป็นภริยาของผู้ตาย ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1 ถามค้านรับว่า นายภูษิตพา ผู้คัดค้านที่ 1 ไปแนะนำตัวเช่นนั้นจริง ที่ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความว่า หลังผู้ตายถึงแก่ความตายประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้คัดค้านที่ 1 ถามนายภูษิตถึงสิทธิของเด็กชายวัชริศ หลังจากนั้นประมาณ 3 ถึง 4 สัปดาห์ นายภูษิตแจ้งผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้ร้องและพี่น้องปรึกษากันแล้วตกลงกันที่จะให้ค่าเลี้ยงดูเด็กชายวัชริศเดือนละ 50,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้ร้องโอนให้เพียง 3 เดือน ก็หยุดเพราะไม่พอใจที่ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ ผู้ร้องเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1 ถามค้านเจือสมว่า ผู้ร้องได้จ่ายเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไปดังกล่าวจริงและเมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ ผู้ร้องก็หยุดให้เงิน ย่อมเป็นพฤติการณ์สนับสนุนที่แสดงว่าผู้ตายแสดงออกจนเป็นที่รับรู้ของนายภูษิตทนายความประจำตัวและผู้ร้องมาโดยตลอดว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของผู้ตายและเด็กชายวัชริศเป็นบุตรของผู้ตาย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ร้องต้องแจ้งเรื่องที่ผู้ตายประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ไปร่วมงานและยังจ่ายค่าเลี้ยงดูให้แก่เด็กชายวัชริศ ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ยินยอมให้เด็กชายวัชริศไปตรวจหาพันธุกรรม เพราะไม่ไว้ใจขั้นตอนการตรวจก็ไม่ถึงขนาดเป็นพิรุธว่าเด็กชายวัชริศไม่ใช่บุตรของผู้ตาย ยิ่งไปกว่านั้นเอกสารสำคัญประจำตัวเด็กชายวัชริศทั้งตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 กับทะเบียนนักเรียนและหนังสือรับรองของโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา ล้วนระบุว่า เด็กชายวัชริศเป็นบุตรของผู้ตาย เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ตายได้มอบหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายประกอบการขอออกสูติบัตรของเด็กชายวัชริศ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ระบุชื่อผู้ตายเป็นบิดา อันเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเด็กชายวัชริศเป็นบุตรและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลแล้วนั่นเอง แม้ไม่มีหนังสือยินยอมแยกต่างหากก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ตายที่เลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 1 กับเด็กชายวัชริศและยินยอมให้เด็กชายวัชริศใช้ชื่อสกุลของผู้ตายอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าเด็กชายวัชริศเป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 มีผู้คัดค้านที่ 2 นางกานดา มารดาของผู้คัดค้านที่ 2 นางรพีพร และนางเกศราหรือมณกร ซึ่งรู้จักกับทั้งผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นอย่างดีเบิกความยืนยันว่า ตายไปมาหาสู่และช่วยเหลือครอบครัวของผู้คัดค้านที่ 2 ประมาณ 1 ปี จนสนิทสนมกัน เมื่อปี 2536 ผู้ตายขอผู้คัดค้านที่ 2 แต่งงานและจัดงานแต่งงานขึ้นที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร ของผู้ตายซึ่งเป็นการสังสรรค์ในหมู่ญาติประมาณ 10 คน หลังจากนั้นได้อยู่กินฉันสามีภริยากันจนมีบุตร 2 คน ได้แก่ เด็กหญิงมุกดาและเด็กหญิงฐิติรัตน์ แม้ผู้ตายเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ แต่กลับไม่ยอมที่จะจัดงานใหญ่โตที่มีแขกจำนวนมากไปร่วมเป็นสักขีพยาน ก็เป็นเพียงเหตุผลส่วนตัวของผู้ตาย เพราะขณะนั้นผู้ตายมีผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด หลักฐานที่แสดงว่าเด็กหญิงมุกดาและเด็กหญิงฐิติรัตน์เป็นบุตรของผู้ตายก็ปรากฏชัดตามสูติบัตร อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ทั้งในการแจ้งเกิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว มีเอกสารประกอบคำขอทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ตายกับหนังสือยินยอมให้ใช้ชื่อของผู้ตาย อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายรับว่าเด็กหญิงมุกดาและเด็กหญิงฐิติรัตน์เป็นบุตรของตนและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลด้วยความเต็มใจและอย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่รับรองว่าเด็กหญิงมุกดาและเด็กหญิงฐิติรัตน์เป็นบุตรผู้ตาย พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชายวัชริศ เด็กหญิงมุกดาและเด็กหญิงฐิติรัตน์เป็นบุตรนอกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายวัชริศ และผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงมุกดาและเด็กหญิงฐิติรัตน์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เริ่มต้นโดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอใช้สิทธิทางศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 4 ต่างยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีโดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย คำคัดค้านดังกล่าวย่อมเป็นคำคู่ความที่ก่อให้เกิดประเด็นตามคำคัดค้านอยู่ในตัวว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 4 เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ กรณีเช่นนี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 จึงหาจำต้องยื่นคัดค้านเพื่อคัดค้านคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 4 ว่า ผู้คัดค้านที่ 4 มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียอันจะเป็นการซ้ำไปซ้ำมาอีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่า ผู้คัดค้านที่ 4 มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโต้เถียงไว้ในคำคัดค้านของตน แสดงว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ยอมรับว่า ผู้คัดค้านที่ 4 มีอำนาจยื่นคำร้องขอจัดการมรดกรายนี้ได้ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง แต่ข้อที่ได้ความว่า หลังจากผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2504 ผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงอยู่กินกันฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกันอีก 6 คน โดยผู้คัดค้านที่ 8 ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องเกิดวันที่ 29 มีนาคม 2517 นั้น ย่อมเป็นข้อสนับสนุนว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 มิได้ถือเอาทะเบียนสมรสเป็นสาระสำคัญของความผูกพันเป็นสามีภริยากัน เพราะหากผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 มีเจตนาที่จะเลิกจากการเป็นสามีภริยากันโดยแท้จริงและเด็ดขาด คงไม่อยู่ร่วมกันอีกเป็นเวลายาวนานจนมีบุตรด้วยกันอีกถึง 6 คน ทั้งความสัมพันธ์ของบุคคลในการอยู่กินกันและทำมาหาได้ร่วมกันซึ่งทรัพย์สินนั้น หาใช่ว่าบุคคลทั้งสองจะต้องอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันตลอดเวลาและต้องกระทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันในทุกเรื่องทุกราวเสมอไป แม้หากฝ่ายหนึ่งต้องออกไปทำงานนอกบ้านแสวงหาทรัพย์สินเพื่อสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้แก่ครอบครัวตามความรู้ความสามารถ ส่วนอีกฝ่ายเพียงทำหน้าที่คอยดูแลบ้านให้มีระเบียบเรียบร้อยและเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่บกพร่อง รวมทั้งการให้คำปรึกษาหารือ ส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจเป็นห่วงเป็นใยและแบ่งปันความทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกันและช่วยกันทำมาหาได้ซึ่งทรัพย์สินแล้ว ภายหลังผู้คัดค้านที่ 4 ให้กำเนิดผู้คัดค้านที่ 8 ทั้งผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ต่างมิได้มีคู่สมรสใหม่ หากแต่ยังคงร่วมกันเลี้ยงดูบุตรทั้ง 7 คน อย่างไม่มีข้อบกพร่องตลอดมา ย่อมบ่งชี้ว่าผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยาเช่นเดิม ที่ผู้ตายเลี้ยงดูและยกย่องผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นภริยาก็เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2535 และปี 2536 หลังผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 มีบุตรคนสุดท้องด้วยกันเกือบ 20 ปี ประกอบกับในชั้นพิจารณา ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 มิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 เลิกกันอย่างเด็ดขาดแล้วและเมื่อใด คงนำสืบอ้างเพียงการจดทะเบียนหย่าซึ่งก็มิใช่เป็นเหตุผล ดังข้อเท็จจริงซึ่งเป็นยุติแล้วว่าหลังจดทะเบียนหย่าผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเหมือนเดิม ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า ความสัมพันธ์ในฐานะสามีภริยาระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 สิ้นสุดลงอย่างเด็ดขาดในปี 2517 โดยถือเอาเวลาภายหลังผู้คัดค้านที่ 4 ให้กำเนิดผู้คัดค้านที่ 8 บุตรคนสุดท้องมาเป็นเกณฑ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุน ที่ผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อปี 2533 ผู้คัดค้านที่ 4 เคยไปให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเพื่อขายที่ดินแทนผู้เยาว์ ตามหนังสือลงวันที่ 12 กันยายน 2533 ว่า เมื่อปี 2525 ผู้คัดค้านที่ 4 เลิกร้างกับผู้ตายอย่างจริงจัง โดยผู้ตายแยกไปอยู่ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ผู้ร้องนำเอกสารดังกล่าวมาถามค้านผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเข้าเบิกความเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2547 แล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่รับเอกสารดังกล่าวไว้เป็นพยานนั้น เห็นว่า แม้ในการซักถามพยานปากผู้คัดค้านที่ 4 ผู้ร้องมีสิทธิที่จะถามค้านเพื่อทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 4 ได้ก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องอ้างส่งเอกสารประกอบคำซักถาม โดยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานและส่งสำเนาให้ผู้คัดค้านที่ 4 เพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งถูกอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนได้มีโอกาสคัดค้านความมีอยู่และความถูกต้องแท้จริงของเอกสารเสียก่อน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และมาตรา 90 ย่อมทำให้ผู้คัดค้านที่ 4 เสียเปรียบ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจในอันที่จะยอมให้ผู้ร้องนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าวหรือไม่ก็ได้แล้วแต่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120 ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 4 ไม่ยอมรับเอกสารดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้ผู้ร้องนำสืบหนังสือของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2533 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมาย และแม้หากหนังสือฉบับดังกล่าวมีอยู่จริง ก็ไม่เพียงพอเป็นหลักฐานว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 เลิกกันแล้ว เพราะอาจเป็นเพียงการให้ถ้อยคำเพื่อที่จะทำให้ผู้คัดค้านที่ 4 สามารถขายที่ดินแทนผู้เยาว์ได้สะดวกยิ่งขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ที่ผู้คัดค้านที่ 1 จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตายยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 โดยปรากฏข้อเท็จจริงส่วนที่เป็นหนี้สินว่า ผู้คัดค้านที่ 4 เคยร่วมกับผู้ตายเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ของบริษัทชวริน จำกัด ซึ่งเป็นกิจการของผู้ตาย จนถูกธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้เป็นจำนวนถึง 1,589,954,704.98 บาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7238/2544 ของศาลแพ่ง ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาของผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ได้อีกประการหนึ่ง ฉะนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 อยู่กินกับผู้ตายจนถึงวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชวลิต ทั่งสัมพันธ์ ผู้ตายร่วมกัน และให้ยกคำขอของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share