คำวินิจฉัยที่ 9/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๕๕

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่งธนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งธนบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓ กรมธนารักษ์ โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทรอยัล ดีเฟนส์ จำกัด จำเลย ต่อศาลแพ่งธนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๘/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๐ โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายประตูตรวจค้นโลหะจำนวน ๖ ประตู รวมเป็นเงินจำนวน ๗๒๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาเลขที่ ๗๙/๒๕๕๐ โดยสัญญากำหนดว่า จำเลยต้องส่งมอบประตูดังกล่าวแก่โจทก์ ณ สำนักงานกษาปณ์ ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี ภายใน ๑๒๐ วัน ต่อมาจำเลยได้นำประตูมาติดตั้ง แต่ปรากฏว่า ประตูตรวจค้นโลหะที่ส่งมอบนั้นไม่เป็นไปตามสัญญา คณะกรรมการตรวจรับประตูจึงไม่ตรวจรับประตูตามสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายประตูตรวจค้นโลหะฉบับใหม่กับห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามอินเตอร์ อาร์มส์ ซึ่งห้างดังกล่าวได้ส่งมอบประตูและติดตั้งให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยจำเลยต้องชำระค่าปรับและค่าเสียหายของราคาที่เพิ่มขึ้นของประตูเนื่องจากโจทก์ต้องจัดซื้อประตูโลหะใหม่ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าปรับจำนวน ๒๑๙,๒๑๒.๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๐๐,๑๖๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และชำระเงินค่าเสียหายของราคาที่เพิ่มขึ้นจำนวน ๑,๐๓๐,๐๑๔.๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๙๗๖,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาได้ และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนค่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ค่าปรับขาดอายุความ และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์คืนเงินจำนวน ๓๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เหตุที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเพราะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิริบหลักประกัน และระยะเวลาที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายใหม่กับบุคคลภายนอกก็อยู่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ทรัพย์สินที่ซื้อขายตามสัญญาซื้อขายพิพาทนั้น โจทก์จัดซื้อจากจำเลยเพื่อใช้ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มาติดต่อกับโจทก์มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะอันถือได้ว่าเป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งธนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้สัญญาซื้อขายประตูตรวจค้นโลหะฉบับพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักใช้ในการตรวจตราพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ทำงานในโรงงานผลิตของสำนักงานกษาปณ์เพื่อป้องกันมิใหhมีการลักลอบนำเหรียญกษาปณ์หรือโลหะของมีค่าที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตเหรียญกษาปณ์หรือเหรียญราชอิสริยาภรณ์ออกไปจากโรงงานผลิต โดยพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของโรงงานผลิตต้องเข้าออกโรงงานโดยการผ่านประตูดังกล่าว ในกรณีที่มีบุคคลภายนอกจะเข้าไปในโรงงานผลิต ก็ต้องฝากเหรียญกษาปณ์ที่พกพามาไว้ที่ตู้ล็อกเกอร์ที่โจทก์จัดไว้ให้ จึงเห็นได้ว่า สัญญาฉบับพิพาทนั้นเป็นการซื้อขายประตูตรวจค้นโลหะที่โจทก์ใช้สำหรับมุ่งประโยชน์ในการดูแลทรัพย์สินของโจทก์เป็นหลัก หาได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปไม่ และเป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกันอันเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ฉะนั้น ข้อพิพาทคดีนี้จึงมิใช่คดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยงานระดับกรมสังกัดกระทรวงการคลังซึ่งตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกอบกับกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะเกี่ยวกับการผลิตเหรียญกษาปณ์และจัดสร้างเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตลอดจนเก็บรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินให้มีความปลอดภัยและอยู่ในสภาพที่ดีเพื่อนำออกเผยแพร่และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ทำสัญญาซื้อประตูตรวจค้นโลหะพร้อมติดตั้งระบบและฝึกฝนการใช้งานกับจำเลยสำหรับใช้ในการตรวจค้นเพื่อป้องกันมิให้เหรียญกษาปณ์ โลหะที่มีค่า เช่น เงิน ทองคำ ฯลฯ ซึ่งย่อมรวมตลอดถึงทรัพย์สินที่มีค่าของแผ่นดินที่โจทก์มีหน้าที่เก็บรักษาที่เป็นโลหะต้องสูญหายไป จึงเห็นได้ว่าการจัดทำบริการสาธารณะตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของโจทก์เกี่ยวข้องกับโลหะที่มีค่าที่ใช้ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ จัดสร้างเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งทรัพย์สินที่มีค่าของแผ่นดินจึงต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดีและมีความปลอดภัยสูงยิ่งกว่าภารกิจของหน่วยงานของรัฐโดยทั่วไป หากไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมและมั่นคงสูงแล้วโลหะที่มีค่าและทรัพย์สินที่มีค่าของแผ่นดินย่อมสูญหายโดยง่ายอาจทำให้โจทก์ปฏิบัติตามภารกิจอำนาจหน้าที่ของตนไม่บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องตรวจค้นโลหะจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่โจทก์ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ให้บรรลุผล นอกจากนั้น สัญญาซื้อขายยังมีข้อกำหนดที่ไม่อาจพบในสัญญาทางแพ่งทั่วไปอย่างแน่นอน ได้แก่ ข้อ ๔ ของสัญญากำหนดให้จำเลยต้องใช้เรือไทยในการขนส่งของหรือเครื่องตรวจโลหะตามสัญญานี้ และหากจำเลยขนส่งสิ่งของตามสัญญาโดยไม่ใช้เรือไทยจะต้องนำหลักฐานซึ่งแสดงว่าได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษเนื่องจากการไม่บรรทุกของโดยเรือไทยจึงจะมีสิทธิได้รับเงินค่าสิ่งของจากโจทก์ได้ซึ่งแสดงให้เห็นเอกสิทธิ์พิเศษของโจทก์ที่มีเหนือจำเลย และการที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจค้นโลหะกับจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจอิสระในการคัดเลือก เพื่อเข้าทำสัญญากับจำเลยแต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์โดยเคร่งครัด แตกต่างจากความสมัครใจของเอกชนทั่วไปในการเข้าทำสัญญาทางแพ่ง เมื่อสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจค้นโลหะระหว่างโจทก์กับจำเลยมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งคือโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดซื้อเครื่องมือสำคัญที่โจทก์ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ให้บรรลุผล และมีข้อกำหนดในสัญญาที่ให้เอกสิทธิ์แก่โจทก์ซึ่งไม่อาจพบในสัญญาทางแพ่งได้อย่างแน่นอน อีกทั้งโจทก์ไม่อาจแสดงความสมัครใจในการเข้าทำสัญญากับจำเลยได้โดยอิสระเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไป หากแต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์โดยเคร่งครัด สัญญาจึงมิได้ทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งเท่าเทียมกัน สัญญาซื้อขายเครื่องตรวจโลหะที่พิพาทในคดีนี้จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาพร้อมกับเรียกเงินค่าปรับตามสัญญาและค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง มีภารกิจและอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตเหรียญกษาปณ์และจัดสร้างเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตลอดจนเก็บรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินให้มีความปลอดภัยและอยู่ในสภาพที่ดีเพื่อนำออกเผยแพร่และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยที่การจัดทำบริการสาธารณะตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของโจทก์เกี่ยวข้องกับโลหะที่มีค่าที่ใช้ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ จัดสร้างเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งทรัพย์สินที่มีค่าของแผ่นดิน จึงต้องมีการเก็บรักษาเป็นอย่างดีและมีความปลอดภัยสูงเพื่อป้องกันมิให้โลหะและทรัพย์สินที่มีค่าสูญหาย เครื่องตรวจค้นโลหะจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่โจทก์ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ให้บรรลุผล ดังนั้น สัญญาซื้อประตูตรวจค้นโลหะพร้อมติดตั้งระบบและฝึกฝนการใช้งานระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งคือโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดซื้อเครื่องมือสำคัญที่โจทก์ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ให้บรรลุผล ทั้งสัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดในสัญญาที่ให้เอกสิทธิ์แก่โจทก์ซึ่งไม่อาจพบในสัญญาทางแพ่งทั่วไป ได้แก่ ข้อ ๔ ที่กำหนดให้จำเลยต้องใช้เรือไทยในการขนส่งสิ่งของหรือเครื่องตรวจโลหะตามสัญญา ซึ่งหากจำเลยขนส่งสิ่งของโดยไม่ใช้เรือไทย จำเลยจะต้องนำหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษเนื่องจากการไม่บรรทุกของโดยเรือไทย จึงจะมีสิทธิได้รับเงินค่าสิ่งของจากโจทก์ สัญญาพิพาทจึงมิได้ทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับสัญญาทางแพ่งอีกด้วย สัญญาพิพาทคดีนี้จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกรมธนารักษ์ โจทก์ บริษัทรอยัล ดีเฟนส์ จำกัด จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share