คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรม ท. มีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และตามพฤติการณ์ที่ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรมทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของ ท. แล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำพิพากษาว่า โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๗ เลขที่ดิน ๒๘๕ ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของจำเลย และให้จำเลยจดทะเบียนเป็นภาระจำยอมให้แก่โจทก์ภายใน ๗ วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ดำเนินการ ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและรั้วกำแพงเปิดทางภาระจำยอมกว้าง ๓ เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๐๙๗๕, ๖๐๙๗๖ และ ๖๐๙๗๗ ในที่ดินแปลงดังกล่าวภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายเอง หากจำเลยเพิกเฉย ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๗ เลขที่ดิน ๒๘๕ ตำบลราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๐๙๗๗ เลขที่ดิน ๗๓๙ ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ และให้จำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๗ ของจำเลย ซึ่งเป็นทางตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๐๙๗๗ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินพิพาทเนื่องจากมีข้อตกลงระหว่างนางสาวทองปลิวกับจำเลยอันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก่อนจะยกที่ดินพิพาทให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การแสดงเจตนาเพื่อถือเอาประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ นั้น เป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ และหาจำต้องระบุตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้น การที่นางสาวทองปลิวขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ ๑๔๗ เป็นแปลงย่อย ๓ แปลง และคงเหลือที่ดินพิพาทไว้เป็นแปลงคงในโฉนดเลขที่ ๑๔๗ โดยในการรังวัดแบ่งแยกนางสาวทองปลิวยอมขยายความกว้างของทางจาก ๑.๕ เมตร เป็น ๓ เมตร ตามที่นายทองหล่อขอขยาย และปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๐๙๗๖ ไม่มีทางออกต้องใช้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นแปลงคงในโฉนดเลขที่ ๑๔๗ ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่นางสาวทองปลิวยังมีชีวิตอยู่ได้สร้างตึกสามชั้น ซึ่งไม่สามารถออกสู่ถนนประชาอุทิศได้โดยตรง แต่ต้องผ่านที่ดินพิพาท ประกอบกับจำเลยและนางสุมาลี พยานจำเลยได้เบิกความยอมรับว่า พยานทั้งสองอยู่ร่วมกับนางสาวทองปลิวในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรมดังกล่าว ขณะที่มีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินนั้นนางสาวทองปลิวมีเจตนาให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นถนนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินที่เหลืออีก ๓ แปลง จึงเจือสมกับนางนำสืบของโจทก์ให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรมดังกล่าว นางสาวทองปลิวมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก ๓ แปลง และตามพฤติการณ์ที่นางสาวทองปลิวพักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรม ทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของนางสาวทองปลิวแล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่านางสาวทองปลิวกับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก ๓ แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๐๙๗๗ ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๐๑ แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share