แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดที่ชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์เห็นว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้นำค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วเป็นเกณฑ์สำหรับการพิจารณาเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งไม่มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ว่าค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วนั้นไม่เหมาะสมอย่างไร กรณีดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่า จำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร อันเป็นการประเมินไม่ถูกต้องตามความใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย แม้กรณีของโจทก์จะเป็นการประเมินค่ารายปีจากทรัพย์สินที่มิได้เกิดจากการประเมินกิจการของโจทก์โดยตรง แต่เป็นการประเมินค่ารายปีจากทรัพย์สินที่โจทก์ให้บุคคลภายนอกหาประโยชน์ก็ตาม ซึ่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย หาได้บัญญัติให้เป็นทางเลือกของหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจที่จะนำคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือฟ้องต่อศาลเพื่อพิจารณาก็ได้ การที่โจทก์มิได้นำเรื่องคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่เห็นด้วยกับการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ก่อน จึงเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งรายการประเมิน ภ.ร.ด. 8 เล่มที่ 2 เลขที่ 94 ฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 และใบแจ้งคำชี้ขาด ภ.ร.ด. 11 เล่มที่ 1 เลขที่ 1 ลงวันที่ 24 มกราคม 2551 กำหนดค่ารายปีของโจทก์ใหม่เป็นค่ารายปีจำนวน 425,920 บาท เป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 53,240 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 340,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ว่า วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2550 ต่อจำเลยที่ 1 เป็นค่ารายปีจำนวน 425,920 บาท ภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 53,240 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือเลขที่ สข 53403/0171 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 แจ้งการประเมินค่ารายปีใหม่เป็นค่ารายปีจำนวน 2,724,000 บาท ภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 340,500 บาท ไปยังโจทก์ วันที่ 19 ธันวาคม 2550 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน วันที่ 24 มกราคม 2551 จำเลยที่ 2 มีใบแจ้งคำชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงนำคดีมาฟ้อง
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติในลักษณะให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเลือกว่า ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจมีข้อพิพาทกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดิน หากรัฐวิสาหกิจเห็นว่าจำนวนค่ารายปีตามการประเมินสูงเกินสมควร ให้รัฐวิสาหกิจมีสิทธินำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์การทางฝ่ายบริหารด้วยกันได้มีโอกาสพิจารณาตรวจสอบเพื่อสั่งลดหย่อนจำนวนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่รัฐวิสาหกิจตามที่เห็นสมควรได้ และตามบทบัญญัติดังกล่าวหามีใจความตอนใดระบุว่า การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธินำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โจทก์จะสิ้นสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อลดหย่อนค่ารายปี ตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้เงินค่ารายปีที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาลดหย่อนนั้นต้องเป็นค่ารายปีที่รัฐวิสาหกิจนั้นได้รับมาจากการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้นโดยตรง หาใช่เงินค่ารายปีที่รัฐวิสาหกิจได้รับมาจากการให้บริการกับบุคคลภายนอกและบุคคลภายนอกให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับรัฐวิสาหกิจนั้น ปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจในคำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาลจะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกก็ได้ แต่ต้องทำภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด” และวรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจในคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้น มีจำนวนที่สูงเกินสมควรให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร มติของคณะรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด” เมื่อโจทก์ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่ชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์เห็นว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้นำค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วเป็นเกณฑ์สำหรับการพิจารณาเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งไม่มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ว่าค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วนั้นไม่เหมาะสมอย่างไร กรณีดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์ไม่พอใจคำสั่งชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควรอันเป็นการประเมินไม่ถูกต้องตามความในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามบทบัญญัติดังกล่าวก่อน แม้กรณีของโจทก์จะเป็นการประเมินค่ารายปีจากทรัพย์สินที่มิได้เกิดจากการประเมินกิจการของโจทก์โดยตรง แต่เป็นการประเมินค่ารายปีจากทรัพย์สินที่โจทก์ให้บุคคลภายนอกหาประโยชน์ก็ตาม ซึ่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย หาได้บัญญัติให้เป็นทางเลือกของหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจที่จะนำคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือฟ้องต่อศาลเพื่อพิจารณาก็ได้ ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์มิได้นำเรื่องคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่เห็นด้วยกับการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ก่อน จึงเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ