แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระค่าจ้างงวดที่ 18 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด รวมถึงการหักจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าจ้างที่ชำระ เป็นการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่เป็นการขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยตีความข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องต้องห้ามเพราะมิใช่กรณียกเว้นให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2)
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง กำหนดให้คู่พิพาทยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือถ้าเป็นกรณีมีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขคำชี้ขาด ก็นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว โดยไม่ได้บัญญัติว่า จะต้องเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญเท่านั้น แม้จะเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญ หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย คู่พิพาทก็อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในวันที่ 8 มีนาคม 2548 แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ตีความหรืออธิบายข้อความในคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการมีการแก้ไขคำชี้ขาดในข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2548 ซึ่งเมื่อนับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดข้างต้นยังไม่เกินเก้าสิบวัน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องดังกล่าวได้
ข้อพิพาทในส่วนเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญาและค่าวัสดุก่อสร้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องจากสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้าง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงหาได้เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการอันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดแต่อย่างใดไม่
การระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเกิดจากข้อตกลงตามสัญญาระหว่างคู่พิพาท โดยการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ยังให้สิทธิแก่คู่พิพาทที่จะตกลงวิธีพิจารณากันได้ และในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกัน หรือ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม ยังให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำ ป.วิ.พ. ว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม คดีนี้ชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเบี้ยปรับว่า ผู้ร้องคดีนี้มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือไม่ เพียงใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งมอบงานแก่ผู้ร้องล่าช้า อันเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่ผู้ร้องตามสัญญา แต่เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้สงวนสิทธิที่เรียกเอาเบี้ยปรับในเวลารับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม จึงหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ทั้งเป็นไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ได้ยกข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร้องไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้ง ก็หาทำให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดไม่
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 13/2546 หมายเลขแดงที่ 13/2548 (ที่ถูก ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 11/2548) ที่วินิจฉัยให้ผู้คัดค้านที่ 1 (ผู้ร้องในคดีนี้) ชำระเงินค่าว่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญา และค่าวัสดุก่อสร้างในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีนี้) และที่วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 (ผู้ร้องในคดีนี้) หมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีนี้) นอกจากที่เพิกถอนนี้ให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (กล่าวคือ ให้ผู้คัดค้านที่ 1 (ผู้ร้องในคดีนี้) ชำระเงินแก่ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีนี้) ดังนี้ 1. ค่าจ้างที่ค้างชำระเป็นเงิน 2,113,079.87 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนเสนอข้อพิพาทต้องไม่เกิน 307,792.76 บาท 2. เงินค่าประกันผลงานจำนวน 1,413,031.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับถัดจากวันที่ 15 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนเสนอข้อพิพาทต้องไม่เกิน 47,036.53 บาท ให้ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีนี้) ชำระเงินค่าควบคุมงานให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 (ผู้ร้องในคดีนี้) จำนวน 322,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับถัดจากวันเรียกร้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องตกลงว่าจ้างผู้คัดค้านที่ 1 ให้ก่อสร้างอาคารโรงน้ำแข็งและสิ่งก่อสร้างอื่น คือ อาคารพักอาศัย ถนนและรั้ว หลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท ศาลยุติธรรม เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าจ้างที่ค้างชำระ ผู้ร้องได้ยื่นคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าจ้างที่เบิกเกินไป ค่าปรับงานล่าช้า และค่าควบคุมงานกรณีส่งมอบงานล่าช้า จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนการพิจารณาจนเสร็จและมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548 ให้ผู้ร้องชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 1 และให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงินค่าควบคุมงานแก่ผู้ร้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระค่าจ้างงวดที่ 18 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดรวมถึงการหักจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าจ้างที่ชำระ เป็นการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่เป็นการขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า เหตุที่ผู้ร้องยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยตีความข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 เพราะมิใช่กรณียกเว้นให้อุทธรณ์ตามมาตรา 45 (1) ที่ว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และมาตรา 45 (2) ที่ว่าคำสั่งนั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกิน 90 วันแล้ว ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 บัญญัติว่า คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือถ้าเป็นกรณีมีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไข หรือตีความคำชี้ขาดหรือทำคำชี้ขาดเพิ่มเติม นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขหรือตีความคำชี้ขาดหรือชี้ขาดเพิ่มเติมแล้ว คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในวันที่ 8 มีนาคม 2548 แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการตีความหรือธิบายข้อความในคำชี้ขาด คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีคำแก้ไขคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 เนื่องจากคำชี้ขาดมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติมาตรา 40 ดังกล่าว ให้คู่พิพาทยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว โดยไม่ได้บัญญัติว่า การแก้ไขคำชี้ขาดจะต้องเป็นในส่วนสาระสำคัญเท่านั้น ฉะนั้น แม้การแก้ไขคำชี้ขาดจะเป็นในส่วนสาระสำคัญ หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย คู่พิพาทก็อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2548 นับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ยังไม่เกินเก้าสิบวัน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 มีว่า มีเหตุให้ศาลสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระค่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญาและค่าวัสดุก่อสร้างในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การก่อสร้างงานเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้าง ในชั้นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ นอกจากค่าจ้างงานงวดสุดท้ายจำนวน 2,000,170 บาท และค่าจ้างงานงวดที่ 17 ที่ค้างชำระจำนวน 1,052,543.90 บาท แล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ยังกล่าวอ้างว่าผู้ร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 ก่อสร้างงานเพิ่มเติม ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นโดยคิดเป็นค่าจ้าง จำนวน 566,537 บาท กับค่าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น อันได้แก่ ค่าเหล็กและคอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 780,787.76 บาท จึงเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงินในส่วนนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ด้วย ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านโดยปฏิเสธว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกร้องดังกล่าวไม่ถูกต้อง และผู้คัดค้านที่ 1 เบิกเงินค่าจ้างเกินไปจำนวน 72,717 บาท โดยไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีการส่งมอบงานก่อสร้างเพิ่มเติมแก่ผู้ร้อง ทั้งปรากฏว่าในการขอเบิกเงินค่าจ้างงานงวดที่ 18 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขอเบิกเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมและค่าวัสดุก่อสร้างในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน โดยได้แนบเอกสารแสดงรายละเอียดปริมาณและมูลค่างานไปด้วย หนังสือดังกล่าวถูกส่งผ่านบริษัทแปลน รีโนเวชั่น จำกัด ตามที่กำหนดในสัญญา ซึ่งในชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการผู้คัดค้านที่ 1 ได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานและคณะอนุญาโตตุลาการรับไว้ กับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้ส่งมอบงานแล้วเสร็จให้แก่ผู้ร้องแล้ว ดังนั้น ที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการเบิกเงินและการชำระค่าจ้างตามสัญญาที่กำหนดให้ผู้แทนผู้ร้องเป็นผู้ตรวจสอบผลงานของผู้คัดค้านที่ 1 และกำหนดเงินค่าจ้าง จึงเป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งข้อพิพาทในส่วนเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญา และค่าวัสดุก่อสร้างงานที่เพิ่มขึ้นก็เป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องจากสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้าง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงหาได้เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการอันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นก้าวล่วงไปวินิจฉัยในเนื้อหาของประเด็นพิพาทแล้วมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญา และค่าวัสดุก่อสร้างในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุให้ศาลสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเกิดจากข้อตกลงตามสัญญาระหว่างคู่พิพาท โดยการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการนอกจากจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ยังให้สิทธิแก่คู่พิพาทที่จะตกลงวิธีพิจารณากันได้ และในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันหรือพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม ยังให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม คดีนี้ได้ความว่าชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการได้มีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเบี้ยปรับดังกล่าวไว้แล้วว่า ผู้คัดค้านที่ 1 (ผู้ร้องคดีนี้) มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือไม่ เพียงใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งมอบงานแก่ผู้ร้องล่าช้า อันเป็นทำนองว่าเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่ผู้ร้องตามสัญญา แต่เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับในเวลารับชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 381 วรรคสาม จึงหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ทั้งเป็นไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้แล้ว แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ได้ยกข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร้องไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้ง ก็หาทำให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ขอให้ศาลฎีกากำหนดจำนวนค่าปรับให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระแก่ผู้ร้องต่อไป
พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นนี้นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ