คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (2) พนักงานสอบสวนย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 66 เพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) กำหนดให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายจับได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่า มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 68 กำหนดให้หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนี้ อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้
ปัญหาว่าผู้ร้องมีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นออกหมายจับนายบือราเฮง ผู้ร้อง นายศิริมงคลและนายชัชวาลย์ ในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายศิริมงคลและนายชัชวาลย์ได้ และดำเนินคดีจนมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องนายศิริมงคลและนายชัชวาลย์
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญา บุคคลนั้นย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (2) พนักงานสอบสวนย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 เพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) กำหนดให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายจับได้ ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 68 กำหนดให้หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนี้ อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาผู้ร้อง

Share