แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สำเนาใบกำกับภาษีระบุชื่อจำเลยเป็นลูกค้าทุกฉบับ และยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้มีรายการหักทอนกันระหว่างโจทก์และจำเลยหลายรายการ ระบุยอดสุดท้ายว่าเป็นรายการที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ คงเหลือ 314,965.05 บาท เท่ากับรายการตามหนังสือรับสภาพหนี้ ปรากฏว่ามีการส่งอะไหล่ครั้งสุดท้ายระบุวันที่ 18 ตุลาคม 2540 โดยไม่ปรากฏว่าได้มีกำหนดเวลาชำระค่าอะไหล่กันไว้ ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก ดังนั้น ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะมีอายุความ 2 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย หรือมีอายุความ 5 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา ก็เป็นที่เห็นได้ว่า หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เป็นการจัดทำขึ้นหลังจากขาดอายุความแล้ว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการที่จำเลยรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพความรับผิดดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ประกอบมาตรา 193/28 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 418,373.51 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 314,965.05 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาสำเนาใบกำกับภาษีซึ่งระบุชื่อจำเลยเป็นลูกค้าทุกฉบับ โดยนางวิไล กรรมการผู้จัดการโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า เป็นหนี้ค่าอะไหล่ที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2540 รายการส่งอะไหล่ครั้งสุดท้าย วันที่ 18 ตุลาคม 2540 และยังเบิกความอีกว่า ยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีรายการหักทอนกันระหว่างโจทก์และจำเลยหลายรายการ ระบุยอดสุดท้ายว่า ค่าอะไหล่อู่วิชัยจำนวน 402,965.05 บาท ซึ่งฟังได้ว่าเป็นรายการอะไหล่ของอู่จำเลยหักด้วยค่าซ่อมที่โจทก์จ่ายจำนวน 88,000 บาท เป็นรายการที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ คงเหลือ 314,965.05 บาท เท่ากับรายการตามหนังสือรับสภาพหนี้ โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าได้มีกำหนดเวลาชำระค่าอะไหล่กันไว้ จึงต้องฟังว่าเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก เมื่อหนังสือรับสภาพหนี้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 ดังนั้น ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะมีอายุความ 2 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย หรือมีอายุความ 5 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา ก็เป็นที่เห็นได้ว่า หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจัดทำขึ้นหลังจากขาดอายุความแล้ว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการที่จำเลยรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพความรับผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ประกอบมาตรา 193/28 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ