คำสั่งศาลฎีกาที่ 10099/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 130 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้ถือเป็นที่สุดนั้น เป็นบทบัญญัติให้ผลการสรรหาเป็นที่สุดเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาในการสรรหาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้ใดเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาในเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภาและองค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน โอกาสและความทัดเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคส่วนที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 114 วรรคสอง แต่ไม่รวมถึงการสรรหาที่ไม่สุจริต ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ ย่อมได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่กำหนดเวลาการเสียสิทธิตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 นั้น มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “….ให้มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง…” และวรรคสองยังบัญญัติต่อไปว่า “ในกรณีที่มีการโต้แย้งการเสียสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพร้อมหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งที่ถัดมาแล้ว…” เป็นการย้ำให้เห็นว่ากำหนดเวลาเสียสิทธิตามมาตรา 26 จะสิ้นสุดลงเมื่อได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งถัดมาจริง ๆ เท่านั้น
การที่สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเสนอชื่อผู้คัดค้านเข้าเป็นผู้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 26 (2) มีผลให้การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้านเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง คดีมีเหตุที่ต้องสั่งให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้าน แต่ตามพฤติการณ์พอเห็นได้ว่าผู้คัดค้านเพียงแต่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าการเสียสิทธิของผู้คัดค้านสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากในคราวที่จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขต ผู้คัดค้านเข้าใจว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครด้วย และได้มีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วโดยไม่มีการแจ้งกลับไปยังผู้คัดค้านว่าเหตุที่แจ้งไม่ใช่เหตุอันสมควร ทั้งผู้ร้องเองก็กล่าวมาในคำร้องว่าผู้คัดค้านยังไม่ได้สิทธิที่เสียไปกลับคืนมา เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กรณียังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านยินยอมให้สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้คัดค้านตามคำร้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 มาตรา 239 และมาตรา 240 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 134 กล่าวคือ
1.เมื่อมีคำสั่งรับคำร้องแล้ว ได้โปรดแจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบว่า ศาลฎีกาได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ผู้คัดค้านจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้
2.มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านเป็นเวลาห้าปี
3.มีคำสั่งให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้านและให้มีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาใหม่ในส่วนของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
วันนัดตรวจพยานหลักฐาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงตามคำร้อง และไม่ติดใจสืบพยาน ศาลฎีกาจึงให้งดไต่สวนและกำหนดประเด็นวินิจฉัย ดังนี้
1.ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านและเพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้านตามคำร้องหรือไม่
2.ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติในการเข้ารับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามคำร้องหรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังว่าเดิมผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 17/32 หมู่ที่ 7 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วันที่ 25 มกราคม 2552 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง ในการเลือกตั้งดังกล่าวผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2553 ผู้คัดค้านย้ายภูมิลำเนาไปอยู่บ้านเลขที่ 504/76 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร วันที่ 29 สิงหาคม 2553 ได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขต ผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร แต่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต ผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต แต่มีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งไปยังผู้อำนวยการเขต ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ร้องประกาศให้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นวันสรรหาสมาชิกวุฒิสภา สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเสนอชื่อผู้คัดค้านเข้ารับการสรรหา ผู้คัดค้านได้รับการสรรหา ผู้ร้องได้ประกาศให้ผู้คัดค้านเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ภายหลังมีผู้ทำหนังสือร้องเรียนว่า การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเข้ารับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพราะผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี ผู้ร้องมีมติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 8/2552 มอบหมายให้กรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมครั้งนั้นดำเนินคดีแทนผู้ร้อง กรณีมีคำสั่งให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และให้มีอำนาจลงนามในคำร้องยื่นต่อศาลตลอดจนสรรพเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินคดีและหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งให้พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินคดีแทนในศาล และในการประชุมของผู้ร้องครั้งที่ 29/2555 พิจารณารายงานการไต่สวน กรณีร้องเรียนคุณสมบัติของผู้คัดค้าน ที่ประชุมเลือกนายวิสุทธิ์กรรมการการเลือกตั้งเป็นประธานในที่ประชุม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประเด็นแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านและเพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้านตามคำร้องหรือไม่ ตามประเด็นข้อนี้ ผู้ร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 240 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 134 ให้เพิกถอนการสรรหาและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 238 บัญญัติว่า
“คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) …..
(2) …..
(3) ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ก่อนได้รับการเลือกตั้งหรือสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ใดได้กระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้งหรือสรรหา หรือได้รับเลือกตั้งหรือสรรหามาโดยไม่สุจริตโดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำลงไปโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(4) …..
เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องพิจารณาวินิจฉัยสั่งการโดยพลัน”
และมาตรา 240 บัญญัติว่า
“ในกรณีที่มีการคัดค้านว่าการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าก่อนได้รับการสรรหา สมาชิกวุฒิสภาผู้ใดกระทำการตามมาตรา 238 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยพลัน
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัยสั่งการเป็นอย่างใดแล้ว ให้เสนอต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยโดยพลัน และให้นำความในมาตรา 239 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับกับการที่สมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยอนุโลม
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะร่วมดำเนินการหรือวินิจฉัยสั่งการมิได้ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีองค์ประกอบเท่าที่มีอยู่
ส่วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 133 วรรคหนึ่งนั้น เป็นกรณีที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเพิ่มเติมให้สิทธิแก่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกขององค์กรที่เสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ยื่นคำร้องคัดค้านต่อผู้ร้อง โดยมีข้อจำกัดให้ต้องยื่นภายใน 30 วัน นับแต่การประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น จึงหากระทบกระเทือนต่ออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 238 และมาตรา 240 ดังกล่าวแล้วไม่ ดังนั้น แม้กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อที่ผู้ร้องได้วินิจฉัยสั่งการในคดีของผู้คัดค้านจะสืบเนื่องมาจากบัตรสนเท่ห์ ซึ่งได้ยื่นเข้าล่วงเลยกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ดังกล่าวก็ตาม กระบวนการดำเนินการของผู้ร้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ข้างต้นก็เป็นไปโดยชอบ มิได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด และเมื่อมีการประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้ผู้คัดค้านเป็นสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 12 เมษายน 2554 ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้เข้ามา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศผลดังกล่าวอันเป็นไปตามนัย มาตรา 134 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ ผู้คัดค้านอ้างว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 130 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้ถือเป็นที่สุดนั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้ผลการสรรหาเป็นที่สุดเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาในการสรรหาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้ใดเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของบุคคลที่สมควรได้รับการแสวงหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาในเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภา และองค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคส่วนที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 114 วรรคสอง แต่ไม่รวมถึงการสรรหาที่เป็นไปโดยไม่สุจริต ไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับการมอบอำนาจนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 236 วรรคท้าย บัญญัติว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคล คณะบุคคล หรือผู้แทนองค์การเอกชน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย และปรากฏข้อความจริงว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 8/2552 วันพุธที่ 21 มกราคม 2552 เห็นชอบในหลักการ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ให้กรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นประธานในการประชุมครั้งนั้นเป็นผู้รับมอบหมายให้ดำเนินคดีแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้มีอำนาจลงนามในคำร้องยื่นต่อศาลตลอดจนสรรพเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินคดีและหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งให้พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินคดีแทนในศาล ซึ่งในการประชุมลงมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 29/2555 วันพุธที่ 21 มีนาคม 2555 กรณีเพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภารายผู้คัดค้าน โดยในการประชุมมีมติดังกล่าว ประธานกรรมการการเลือกตั้งมิได้ร่วมพิจารณาตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 240 วรรคสี่ กรรมการการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ 4 คน ได้เลือกกรรมการเลือกตั้ง คือ นายวิสุทธิ์ เป็นประธานในที่ประชุมตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 เช่นนี้ นายวิสุทธิ์ กรรมการการเลือกตั้งผู้ได้รับมอบหมายจึงมีอำนาจลงชื่อในคำร้องยื่นต่อศาลฎีกา ฉะนั้น ผู้ร้องจึงย่อมมีอำนาจยื่นขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านและเพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้านตามคำร้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่า ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติในการเข้ารับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามคำร้องหรือไม่ ผู้คัดค้านอ้างเหตุคัดค้านในประเด็นนี้ว่า แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2552 โดยมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นเหตุให้เสียสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 26 (2) แต่ต่อมาในคราวที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตวันเดียวกันในวันที่ 29 สิงหาคม 2553 ซึ่งผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพราะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่ถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 คงมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตอย่างเดียว ผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ได้มีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อผู้อำนวยการเขต โดยหนังสือดังกล่าวแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากขณะนั้นผู้คัดค้านเข้าใจว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครด้วย และไม่มีการแจ้งกลับไปยังผู้คัดค้านว่าเหตุที่แจ้งไม่ใช่เหตุอันสมควร ถือว่าผู้คัดค้านได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 24 วรรคหนึ่งถึงวรรคสาม ครบถ้วน ผู้คัดค้านจึงได้รับสิทธิในทางการเมืองกลับคืนมา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 72 ทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตซึ่งเป็นราชการส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “การเสียสิทธิตามมาตรา 26 ให้มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น” การเสียสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาของผู้คัดค้านจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว ก่อนที่ผู้คัดค้านจะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เห็นสมควรวินิจฉัยเป็นเบื้องแรกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ ย่อมได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่กำหนดเวลาการเสียสิทธิตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 นั้น มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “…ให้มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง…” และในวรรคสองยังบัญญัติต่อไปว่า “ในกรณีที่มีการโต้แย้งการเสียสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพร้อมหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งถัดมาแล้ว…” เป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า กำหนดเวลาการเสียสิทธิตามมาตรา 26 จะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งถัดมาจริง ๆ เท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นับแต่เวลาที่ผู้คัดค้านไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรีจนถึงวันที่ผู้คัดค้านได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ชื่อเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านโต้แย้งกันว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานครเป็นการเลือกตั้งอันอยู่ในนัยแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 หรือไม่ อย่างใดอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้วินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป การที่สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเสนอชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 26 (2) มีผลให้การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้านเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง คดีมีเหตุที่ต้องสั่งให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของผู้คัดค้าน แต่ตามพฤติการณ์พอเห็นได้ว่า ผู้คัดค้านเพียงแต่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าการเสียสิทธิของผู้คัดค้านสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากในคราวที่จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553 ผู้คัดค้านเข้าใจว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครด้วย และได้มีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว โดยไม่มีการแจ้งกลับไปยังผู้คัดค้านว่าเหตุที่แจ้งไม่ใช่เหตุอันสมควร ทั้งผู้ร้องเองก็กล่าวมาในคำร้องว่า ผู้คัดค้านยังไม่ได้สิทธิที่เสียไปกลับคืนมา เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กรณียังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านยินยอมให้สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทยเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านตามคำร้อง
อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 240 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 134 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของนายศรีสุข ผู้คัดค้าน และให้มีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาใหม่ในส่วนของผู้คัดค้าน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share