แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยคดีนี้เป็นกรณีจำเลยให้การรับสารภาพซึ่งมีระเบียบกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงต้องเป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าว โดยไม่จำต้องอ้างอิงอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 ท้ายระเบียบ เมื่ออัตราเงินรางวัลทนายความตามข้อ 7 มิได้กำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความให้แก่ผู้ร้อง 2,000 บาท จึงชอบแล้ว
อำนาจในการกำหนดเงินรางวัลให้ทนายความเป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 พ.ศ.2548 ข้อ 5 ผู้ร้องไม่มีอำนาจฎีกาให้ศาลฎีกากำหนดเงินรางวัลทนายความใหม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 278, 358, 362, 364, 365 (1) (2) (3) จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นจึงตั้งผู้ร้องเป็นทนายความให้จำเลย ระหว่างพิจารณาผู้ร้องยื่นคำให้การจำเลย บัญชีพยานจำเลย ขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวน ไปศาลตามกำหนดนัด ยื่นคำร้องขอหมายเรียกพยานเอกสาร และยื่นคำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ระหว่างนั้นผู้ร้องยื่นคำแถลงว่า จำเลยจะขอวางเงิน 20,000 บาท ต่อศาลเพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย โดยได้นำเงิน 5,000 บาท มาวางต่อศาลไว้ก่อน ผู้ร้องยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีประกอบคำรับสารภาพของจำเลยโดยมีเอกสารแนบท้ายมาด้วย และผู้ร้องยื่นคำแถลงว่าจำเลยขอวางเงินอีก 15,000 บาท ต่อศาลเพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายรับไปแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับเงินรางวัลทนายความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จ่ายเงินรางวัลทนายความ 2,000 บาท แก่ผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำตามตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ท้ายระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ข้อ 7 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความให้ผู้ร้องชอบหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า แม้ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ข้อ 7 ได้ระบุให้เป็นดุลพินิจในการสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความให้แก่ทนายความที่ศาลตั้งก็ตาม แต่ระเบียบข้อดังกล่าวก็ต้องสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความในอัตราขั้นต่ำหรืออัตราขั้นสูงตามประเภทของคดีตามตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ท้ายระเบียบด้วยนั้น เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ข้อ 4 ระบุว่า “อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และตารางท้ายระเบียบนี้” ดังนี้ อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 จึงมี 2 อัตรา กล่าวคือ อัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และอัตราที่กำหนดไว้ตามตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ท้ายระเบียบ การที่ศาลชั้นต้นจะสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความอัตราใดย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งข้อ 7 แห่งระเบียบ ระบุว่า “ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพหรือคดีเสร็จไปโดยศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษา เช่น คดีที่โจทก์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือจำเลยถึงแก่ความตาย เป็นต้น หรือในกรณีที่มีการสืบพยานไว้ก่อนฟ้องคดีต่อศาล หรือไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือในคดีที่ทนายความปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงบางส่วน โดยไม่ได้เป็นความผิดของทนายความผู้นั้น และศาลเห็นว่ามีเหตุผลพิเศษที่ทนายความผู้นั้นควรได้รับเงินรางวัลให้ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายเงินรางวัลให้แก่ทนายความได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท” การสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งมีระเบียบกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้นจึงต้องเป็นไปตามอัตราที่ระบุไว้ในข้อดังกล่าว โดยไม่จำต้องอ้างอิงตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ท้ายระเบียบดังที่ผู้ร้องฎีกา และเมื่ออัตราเงินรางวัลทนายความตามข้อ 7 มิได้กำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความให้แก่ผู้ร้อง 2,000 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาทำนองโต้แย้งดุลพินิจในการสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความของศาลชั้นต้น เห็นว่า อำนาจในการกำหนดเงินรางวัลให้ทนายความ เป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 พ.ศ.2548 ข้อ 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฎีกาให้ศาลฎีกากำหนดเงินรางวัลทนายความใหม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน