คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9037/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้ผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ วรรคสามบัญญัติว่า หนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้บริหารชั่วคราวก่อขึ้น หนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดตาม มาตรา 90/12 (8) หรือ (11) และหนี้ภาษีอากรหรือหนี้อื่นอันมีลักษณะเดียวกันซึ่งเกิดตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ… และมาตรา 90/61 บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ตามมาตรา 90/26 หรือมาตรา 90/27 วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่ (1) แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือ (2) ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า หนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการนั้นแม้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม หากเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการจะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเท่านั้น
หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องนั้น แม้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 จะบัญญัติให้ผู้รับประเมินชำระค่าภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน โดยมาตรา 18 บัญญัติให้ ค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วนั้นให้เป็นหลักสำหรับคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาก็ตาม แต่จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว ตามความในภาค 3 เรื่อง วิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งผู้รับประเมินจะต้องเสียภาษีใน 30 วัน นับแต่วันได้รับการแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง หากพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่แจ้งให้จำเลยทราบจำนวนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยก็ยังไม่ต้องชำระแต่อย่างใด หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจึงเกิดขึ้นเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 อันเป็นวันที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน และภายหลังที่มีการโฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน เมื่อหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินมิได้กำหนดไว้ในแผน โจทก์จึงสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางได้ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมค่าเพิ่มรวมเป็นเงิน 3,502,070.99 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมค่าเพิ่มรวม 3,502,070.99 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางโดยคู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของโรงเรือนพิพาทเลขที่ 295 ถนนพระราม 3 แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ลักษณะโรงเรือนเป็นอาคาร 2 ส่วน ส่วนหน้าเป็นตึก 3 ชั้น รวมชั้นใต้ดินซึ่งเป็นส่วนของอาคารศูนย์การค้า ส่วนด้านหลังเป็นตึก 6 ชั้น ใช้เป็นอาคารจอดรถ จำเลยนำโรงเรือนดังกล่าวออกให้เช่าเพื่อหารายได้ โดยเริ่มดำเนินกิจการเมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำเลยได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับปีภาษี 2541 ถึงปีภาษี 2543 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีภาษี ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและตั้งให้จำเลยเป็นผู้ทำแผนตามคำสั่งฟื้นฟูกิจการ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีประกาศ เรื่อง คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนบริษัทจำเลย กำหนดให้เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในคดีดังกล่าว ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตามมาตรา 90/26 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยโฆษณาคำสั่งดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวัน และประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา แต่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ถึงปีภาษี 2543 สำหรับโรงเรือนพิพาทของจำเลยต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่ง ต่อมาที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนที่มีการแก้ไขตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ หลังจากนั้นพนักงานเก็บภาษีของโจทก์ออกใบแจ้งรายการประเมินให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ถึงปีภาษี 2543 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดให้จำเลยชำระค่าภาษีตามที่ถูกประเมินตามใบแจ้งคำชี้ขาด
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ถึงปีภาษี 2543 หรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า มูลหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90/26 และมาตรา 90/27 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้ผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า” มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้” วรรคสามบัญญัติว่า “หนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้บริหารชั่วคราวก่อขึ้น หนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดตามมาตรา 90/12 (8) หรือ (11) และหนี้ภาษีอากรหรือหนี้อื่นอันมีลักษณะเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ…” และมาตรา 90/61 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 90/26 หรือมาตรา 90/27 วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่ (1) แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือ (2) ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า หนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการนั้นแม้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม หากเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่าหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องเป็นหนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน คือ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นกับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นนั้น ในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี โดยมาตรา 18 บัญญัติให้ค่ารายปีที่ล่วงแล้วนั้นเป็นหลักสำหรับคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องเป็นหนี้สำหรับปีภาษี 2541 ถึงปีภาษี 2543 ซึ่งเกิดจากการนำโรงเรือนพิพาทออกใช้สอยหาประโยชน์ในปี 2540 ถึงปี 2542 ตามลำดับก็ตาม แต่จำเลยจะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีและแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว ตามความในภาค 3 เรื่อง วิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ซึ่งผู้รับการประเมินจะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามนัยมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและแจ้งให้จำเลยทราบจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย จำเลยก็ยังไม่จำต้องชำระภาษี เพราะหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจะเกิดขึ้นเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 อันเป็นวันที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมิน ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและตั้งผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนของจำเลยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543 หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจึงเกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและเกิดขึ้นภายหลังวันที่มีการโฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนดังกล่าว เมื่อหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินมิได้กำหนดไว้ในแผน โจทก์จึงสามารถฟ้องเป็นคดีภาษีอากรต่อศาลภาษีอากรกลางได้และมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ถึงปีภาษี 2543 จากจำเลยได้โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share