คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8927/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องระบุการกระทำความผิดว่าจำเลยทั้งสามหลอกลวงให้ลงทุนในบริษัท อ. ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เสียหายเป็นเงิน 90,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิด ส่วนการติดต่อชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้จ่ายเงินจำนวน 1,462,500 บาท เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง เพราะเป็นข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับคดีนี้ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง และโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 9, 12, 15 และให้จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันคืนต้นเงินที่กู้ยืมและฉ้อโกงรวม 2,742,786.44 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมชัย ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืนเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่นางสาวธิดา ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 ธันวาคม 2544) จนกว่าคืนหรือใช้เงินเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าบริษัทเมอรี่เวิลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับบริษัทเอ็ม.อาร์.ดับบลิว.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารของบริษัทเมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2543 บริษัทเมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถูกสั่งปิดกิจการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ย้ายไปทำงานที่บริษัทเอ็ม.อาร์.ดับบลิว.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับการติดต่อชักชวนให้ลงทุนในบริษัทเมอรรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อ้างว่าเป็นบริษัทมั่นคง จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย กิจการเป็นการนำเงินลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ 4 สกุล คือ ปอนด์สเตอร์ริง ยูโร ฟรังค์ และเยน โดยจะมีคำสั่งซื้อไปยังเมืองฮ่องกง ผู้เสียหายที่ 1 ไปดูที่ทำการของบริษัทเมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ เห็นมีพนักงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ มีจอภาพแสดงความเคลื่อนไหวทางการเงิน ประกอบกับรับฟังคำชักชวนว่าหากลงทุนซื้อขายจะได้ผลกำไรมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จึงลงทุนหลายคราว แต่ละคราวพนักงานของบริษัทเมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะอ้างว่าซื้อเงินตราแล้วขาดทุน หากต้องการเงินคืนต้องลงทุนเพิ่ม ผู้เสียหายที่ 1 ลงทุนเป็นเงิน 110,000 บาท ได้รับเงินคืน 20,000 บาท ผู้เสียหายที่ 1 เสียหายจากการลงทุนเป็นเงิน 90,000 บาท บริษัทที่ผู้เสียหายที่ 1 ลงทุนไม่ได้รับอนุญาตจากราชการให้ทำธุรกรรมตามที่อ้าง ไม่เคยสั่งซื้อเงินตราไปยังธนาคารในเมืองฮ่องกงดังที่แจ้งผู้เสียหายที่ 1 ข้อมูลทางการเงินที่แสดงในที่ทำการของบริษัทดังกล่าวเป็นข้อมูลช้ากว่าความเป็นจริง ทำให้บริษัทดังกล่าวรู้ข้อมูลก่อนและใช้ข้อมูลอ้างต่อผู้เสียหายที่ 1 ว่าทำธุรกรรมขาดทุน ปัญหาที่จะต้องพิจารณาตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า นางสาวสุทธิวรรณ พนักงานของบริษัทเมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บริษัทดังกล่าว ได้พบจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 เป็นผู้แนะนำและชักชวนให้ผู้เสียหายที่ 1 ลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ อ้างว่าจะได้กำไรดีผู้เสียหายที่ 1 เชื่อ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าของจำเลยที่ 3 ได้มอบวิทยุติดตามตัวให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้ดูความเคลื่อนไหวของเงินตราและผู้เสียหายที่ 1 ได้มอบเงินจำนวน 200,000 บาทให้หลังจากนั้น 1 สัปดาห์นางสาวสุทธิวรรณแจ้งผู้เสียหายที่ 1 ว่าได้กำไร 90,000 บาท แต่ยังเบิกไม่ได้ต้องลงทุนต่อ จากนั้นพนักงานบริษัทแจ้งว่าการซื้อขายขาดทุน ต้องลงทุนเพิ่ม 38,000 บาท มิฉะนั้นเงินที่ลงทุนจะสูญทั้งหมด ผู้เสียหายที่ 1 ลงทุนเพิ่มอีกหลายครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 1,462,500 ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2543 บริษัทเมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถูกเจ้าพนักงานสั่งปิดกิจการพนักงานบริษัทมิได้แจ้งผู้เสียหายที่ 1 แต่ยังคงส่งนางสาวสุทธิวรรณและนายอภิชาติไปรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 อีกหลายแสนบาท ผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทเมอรี่แลนด์ เซอร์วิส คอร์ปอเรชั่น จำกัดที่กรุงเทพมหานคร แจ้งว่าบริษัทที่เชียงใหม่ปิดปรับปรุง ให้ติดต่อบริษัทที่กรุงเทพมหานครแทน โดยย้ายไปติดต่อบริษัทเอ็ม.อาร์.ดับบลิว.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้เสียหายที่ 1ได้โอนเงินและรับเงินมัดจำ ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เสียเงินไป 90,000 บาท เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับการชักชวนให้ผู้เสียหายที่ 1 ลงทุนเป็นเงิน 1,462,500 บาท แต่ยอดเงินจำนวนนี้ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่ามิได้แจ้งแก่พนักงานสอบสวนในคดีนี้ แต่แจ้งไว้แก่พนักงานสอบสวนคดีเศรษฐกิฐ ส่วนการแจ้งความในคดีนี้เกี่ยวกับยอดเงินที่มอบให้แก่บริษัทเอ็ม.อาร์.ดับบลิว.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หลังจากบริษัทเมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถูกสั่งปิดกิจการแล้ว ในการติดต่อกับบริษัทเอ็ม.อาร์.ดับบลิว.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่าติดต่อกับนางสาวสุทธิวรรณ และนายอภิชาติ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวสุทธิวรรณ พยานจำเลยทั้งสามว่า เมื่อบริษัท เมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปิดกิจการ ผู้เสียหายที่ 1 ย้ายไปใช้บริการบริษัทเอ็ม.อาร์.ดับบลิว.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนางสาวสุทธิวรรณเป็นผู้ดูแล การติดต่อและรับมอบเงินในคราวหลังนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องระบุการกระทำผิดว่าจำเลยทั้งสามหลอกลวงให้ลงทุนในบริษัทเอ็ม.อาร์.ดับบลิว.อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เสียหายเป็นเงิน 90,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 ในส่วนนี้คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนการติดต่อชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้จ่ายเงินเป็นจำนวน 1,462,500 บาท เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง เพราะเป็นข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับคดีนี้ แต่เป็นคดีเกี่ยวกับการจ่ายเงินให้แก่บริษัทเมอรี่ไทม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทั้งจำนวนเงินที่อ้างว่าผู้เสียหายที่ 1 เสียหาย เป็นเงิน 1,462,500 บาท ก็มิได้ระบุในคำฟ้อง โดยเอกสารท้ายฟ้องระบุเพียงยอดเงินจำนวน 90,000 บาท ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง และโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share