คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4497/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะใช้อำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2539 มาตรา 99 ได้นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงแก่ศาลว่ามีพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับ ตัวเด็กหรือเยาวชน ซึ่งอยู่ในระหว่างการรับโทษหรือถูกควบคุมอยู่ตามคำพิพากษากับต้องมีเหตุ อันสมควรที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย เมื่อคดีนี้จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวตลอดมา จนกระทั่งศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง กรณียังไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับตัวจำเลยอันจะเป็นเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลฎีกาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนนี้เข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 279, 283 ทวิ, 284, 310, 317
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 279, 283 ทวิ, 284, 310, 317 ประกอบมาตรา 83, 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กหญิงไปเพื่อการอนาจาร ฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายและฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 2 กระทง มีกำหนด 50 ปี และฐานพรากเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 2 กระทง มีกำหนด 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 28 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 56 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันควบคุมตัว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เกิดวันที่ 28 มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 2 เกิดวันที่ 28 มีนาคม 2528 ปัจจุบันจำเลยทั้งสองอายุ 25 ปี วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาไม่อาจนำมาใช้แก่จำเลยทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จำเลยทั้งสองได้รับการปล่อยชั่วคราวมาโดยตลอด ยังมิเคยรับโทษหรือได้รับการฝึกอบรมตามคำพิพากษา ถือได้ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 78 และมาตรา 82 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 99 จึงมีคำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนจากการควบคุมตัวจำเลยทั้งสองเพื่อฝึกและอบรมเป็นให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปจำคุกยังเรือนจำกลางจังหวัดสมุทรปราการมีกำหนดคนละ 2 ปี นับแต่วันควบคุม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ซึ่งบังคับใช้ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ในมาตรา 99 บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแล้ว และต่อมาความปรากฏแก่ศาลเอง หรือปรากฏจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้ปกครองโรงเรียน หรือสถานกักและอบรมหรือสถานฝึกและอบรมของสถานพินิจหรือปรากฏจากคำร้องของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ หรือสถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตตามมาตรา 20 (2) ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามมาตรา 78 และมาตรา 82 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมถ้าศาลเยาวชนและครอบครัวที่พิพากษาหรือมีคำสั่งหรือที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนนั้นกำลังรับโทษหรือถูกควบคุมตัวอยู่ เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็ให้มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้….” จึงเห็นได้ว่ามาตรา 99 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงแก่ศาลว่ามีพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับตัวเด็กหรือเยาวชน และต้องมีเหตุอันสมควรที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย เมื่อคดีนี้จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวตลอดมา จนกระทั่งศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง กรณียังไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับตัวจำเลยและไม่มีเหตุอันสมควรที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลฎีกาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย
พิพากษายืน

Share