แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นตรวจและมีคำสั่งในคำฟ้องของโจทก์เพียงว่า “รับฟ้อง หมายส่งสำเนาให้จำเลย ให้โจทก์วางค่าส่งในวันนี้…” โดยวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอปิดหมายมาพร้อมด้วย ในคำแถลงโจทก์ยืนยันว่า จำเลยมีภูมิลำเนาตามฟ้องตามหนังสือรับรองบริษัทจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำแถลงนั้นว่ามีหลักฐานภูมิลำเนา หากส่งไปรษณีย์ไม่ได้ ให้เจ้าพนักงานส่ง ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ดังนี้ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคหนึ่ง แล้ว
เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดอีก แม้จะเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ แต่การที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขอของโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในทางไม่จำหน่ายคดีและให้ดำเนินคดีต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 766,502.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 699,119.38 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยยื่นคำให้การพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย จึงไม่รับคำให้การจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ
โจทก์แถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน จึงมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่จำเป็นแทนการสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 766,502.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนี้ ในต้นเงินจำนวน 699,119.38 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลย และพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งหมดให้จำเลยค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ศาลชั้นต้นจะตรวจและมีคำสั่งในคำฟ้องของโจทก์เพียงว่า “รับฟ้อง หมายส่งสำเนาให้จำเลย ให้โจทก์วางค่าส่งในวันนี้…” แต่ปรากฏว่า ในวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอปิดหมายมาพร้อมด้วย ในคำแถลงดังกล่าวโจทก์ยืนยันว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ตามฟ้องของโจทก์จริงตามหนังสือรับรองบริษัทจำเลย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำแถลงนั้นว่ามีหลักฐานภูมิลำเนา หากส่งไปรษณีย์ไม่ได้ ให้เจ้าพนักงานส่ง ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคหนึ่งแล้ว เมื่อพนักงานไปรษณีย์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยมีพนักงานของจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้รับแทนเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ซึ่งจำเลยต้องยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย แต่จำเลยมายื่นคำให้การเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 จึงเป็นการยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดระยะตามที่กฎหมายบัญญัติ ต้องถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จึงเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ปัญหานี้ฟังขึ้น
ในชั้นไต่ส่วนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ ได้ความจากนาย ณ พฤกษ์ ทนายจำเลยเบิกความว่า เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยการรับไว้ด้วยตนเองทางไปรษณีย์แล้ว จำเลยได้ส่งเรื่องให้พยานดำเนินการต่อ พยานจึงโทรศัพท์มาตรวจสอบที่ศาลชั้นต้น เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าได้ส่งหมายให้จำเลยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 พยานก็เข้าใจว่าสามารถยื่นคำให้การได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ดังนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของทนายความจำเลยโดยเฉพาะ กล่าวคือ เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลเช่นนั้น ก็น่าจะสอบถามให้กระจ่างชัดว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีใด ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลายื่นคำให้การตามกฎหมายแตกต่างกันไป หรือหากไม่แน่ใจก็สามารถตรวจสอบสำนวนความได้ที่ศาล แต่ทนายจำเลยกลับเข้าใจไปเองว่าสามารถยื่นคำให้การได้ภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดโดยมีมูลเหตุมาจากความเข้าใจของทนายจำเลยเอง จึงถือว่าการขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยเป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 นั้น ปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 โดยวิธีรับหมาย ซึ่งจำเลยจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย แต่จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ย่อมถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 อันเป็นการยื่นคำร้องภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดอีกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 แม้จะเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ แต่การที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอของโจทก์ดังกล่าวว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและกรณีเป็นหนี้เงินจำนวนแน่นอน ให้งดสืบพยานโจทก์กับให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยาน ถือว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในทางไม่จำหน่ายคดี และให้ดำเนินคดีต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ