คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8634/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก. ตรวจค้นพบลูกกุญแจของกลางที่ตัวจำเลย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 หลังจากวันที่จำเลยอ้างว่าเก็บลูกกุญแจของกลางได้สองวัน ทั้งที่จำเลยทราบดีว่ามีการพยายามติดตามหาเนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการรักษาความปลอดภัยในโรงแรม จึงฟังได้ว่าจำเลยเบียดบังลูกกุญแจของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินหายดังกล่าวไว้โดยทุจริต แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามป.อ. มาตรา 352 วรรคสอง จึงเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ต่างกันในข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้เนื่องจากนำสืบรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้ ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก โทษจำคุกให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า มีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ลูกกุญแจมาสเตอร์ของกลางเกิดขึ้นหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์มีนายสุขชัยเป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความอ้างว่าลูกกุญแจสูญหายไปจากลิ้นชักโต๊ะทำงานของพยาน เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงดังที่นายสุขชัยเบิกความด้วยว่า หลังจากไม่พบลูกกุญแจพยานรายงานให้หัวหน้าฝ่ายของพยานทราบ ช่วยกันค้นหาและปิดประกาศในห้องทำงานของพยาน ทั้งที่ควรทราบดีว่าเป็นเรื่องสำคัญซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการรักษาความปลอดภัยห้องพักในโรงแรม ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความไม่มั่นใจว่าจะมีคนร้ายลักลูกกุญแจไปจากลิ้นชักโต๊ะทำงานของพยานหรือเป็นการทำหายจนต้องพยายามช่วยกันค้นหาแล้ว จากสภาพโต๊ะทำงานของนายสุขชัยก็ไม่ปรากฏร่องรอยการงัดทำลายเพื่อเปิดลิ้นชักที่ถูกล็อกไว้หากมีคนร้ายเข้าลักทรัพย์ดังข้อกล่าวอ้าง รวมทั้งยังได้ความตามที่นางสาวดวงรวีและนายสุขชัยเบิกความทำนองเดียวกันด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุนายสุขชัยถูกย้ายให้ไปทำงานตำแหน่งอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการใช้กุญแจ และยังถูกออกหนังสือตักเตือนในเรื่องปฏิบัติงานบกพร่องตามสำเนาแบบรายงานความประพฤติของพนักงาน ดังนี้ เพียงการที่นายสุขชัยพยานโจทก์เบิกความว่าลูกกุญแจของกลางสูญหายไปจึงอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นอันเป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ตามที่ถูกตักเตือน กรณีเกิดความสงสัย ไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา และไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่ามีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นจริง จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยเป็นผู้ครอบครองลูกกุญแจของกลางที่สูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องเกิดขึ้น การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรตามที่จำเลยฎีกา และเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวเพราะไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาในส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อย่างไรก็ตามการที่จำเลยครอบครองลูกกุญแจของกลางไว้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าลูกกุญแจของกลางเป็นทรัพย์สินหายซึ่งจำเลยเก็บได้แล้วเบียดบังไว้โดยเจตนาทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายหรือไม่นั้น นอกจากได้ความตามที่นายสุขชัยเบิกความว่า หลังจากพยานทราบว่าลูกกุญแจของกลางสูญหาย พยานพยายามค้นหาและปิดประกาศ และจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความรับว่า จำเลยเก็บลูกกุญแจของกลางได้ที่สนามหญ้าหน้าห้องอาหารของโรงแรมเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2548 หลังจากลูกกุญแจสูญหายไปนานถึง 11 เดือนเศษ โดยสภาพและขนาดของลูกกุญแจของกลางที่มีขนาดเล็ก จึงถือได้ว่าลูกกุญแจของกลางเป็นทรัพย์สินหาย การที่นายกิตติเทพตรวจค้นพบลูกกุญแจของกลางที่ตัวจำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 หลังจากวันที่จำเลยอ้างว่าเก็บลูกกุญแจของกลางได้สองวันทั้งที่จำเลยทราบดีว่ามีการพยายามติดตามหาเนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการรักษาความปลอดภัยในโรงแรม จึงฟังได้ว่าจำเลยเบียดบังลูกกุญแจของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินหายดังกล่าวไว้โดยทุจริต แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคสอง จึงเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ต่างกันในข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้เนื่องจากนำสืบรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share